วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

Victor-Marie Hugo


Victor-Marie Hugo 
                     วิกตอร์-มารี อูโก (ฝรั่งเศสVictor-Marie Hugo; 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802 - 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885) เป็นกวี นักเขียนบทละคร นักประพันธ์ ศิลปิน รัฐบุรุษ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวฝรั่งเศส เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงสำหรับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยุคโรแมนติกในประเทศฝรั่งเศส
ชื่อเสียงของอูโกทางด้านงานวรรณกรรมในประเทศฝรั่งเศสมาจากงานกวีนิพนธ์และบทละคร ส่วนงานนวนิยายเป็นที่รู้จักรองลงมา ในบรรดางานกวีนิพนธ์ของเขา Les Contemplations และ La Légende des siècles จัดเป็นงานที่โดดเด่นและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บางครั้งอูโกได้รับกล่าวขวัญถึงในฐานะกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ส่วนชื่อเสียงภายนอกประเทศ เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานนวนิยาย เรื่อง Les Misérables(เหยื่ออธรรม) และ Notre-Dame de Paris (ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกว่า The Hunchback of Notre Dame หรือ คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม)
ประวัติ
วิกตอร์ อูโก เป็นบุตรคนที่สามและคนสุดท้องของโจเซฟ เลโอโปลด์ ซิกิสเบิร์ต อูโก (1773–1828) และนางโซฟี เทรบูเชต์ (1772-1821) เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802  ที่เมืองเบอซองซง ในแคว้นฟร็องช์ กงเต พี่ชายของเขาสองคนคือ อาเบล โจเซฟ อูโก (1798–1855) และ ยูจีน อูโก (1800–1837) เขาใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดของเขาในประเทศฝรั่งเศส โดยจำเป็นต้องลี้ภัยออกไปนอกประเทศชั่วเวลาหนึ่งระหว่างรัชสมัยของพระเจ้านโปเลียนที่สาม โดยไปอาศัยอยู่ในบรัสเซลราว ค.ศ. 1851 ในเจอร์ซีย์ระหว่างปี 1852-1855 และในเจอร์นซีย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1855-1870 กับอีกครั้งหนึ่งในปี 1872-1873 ซึ่งเขาเลือกจะลี้ภัยเองแม้มีการนิรโทษกรรมแล้วในปี ค.ศ. 1859
ในช่วงวัยเยาว์ของอูโกมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ในคริสต์ศตวรรษก่อนหน้าที่เขาจะเกิด ราชวงศ์บูร์บงถูกโค่นลงในการปฏิวัติฝรั่งเศส ตามมาด้วยการรุ่งเรืองและล่มสลายของสาธารณรัฐแห่งแรก การรุ่งเรืองของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่ง การรวบอำนาจเผด็จการของนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหลังจากอูโกเกิดได้สองปี ราชวงศ์บูร์บงได้รับการสถาปนากลับมาอีกครั้งก่อนที่อูโกจะมีอายุครบ 18 ปี แนวคิดทางการเมืองและทางศาสนาที่ตรงข้ามกันของพ่อและแม่สะท้อนถึงแรงผลักดันในการสงครามในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของเขา พ่อของอูโกเป็นนายทหารระดับสูงในกองทัพของนโปเลียน ซึ่งไม่นับถือพระเป็นเจ้าแต่ยกย่องนโปเลียนเป็นวีรบุรุษ ส่วนแม่ของเขาเป็นชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัดและจงรักภักดีต่อราชวงศ์ ครอบครัวของอูโกต้องย้ายบ้านบ่อยๆ ตามการรับตำแหน่งของบิดา ทำให้อูโกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายระหว่างการเดินทาง ครั้งหนึ่งเมื่อครอบครัวของเขาเดินทางไปยังเนเปิลส์ อูโกได้เห็นช่องเขาแอลป์ขนาดใหญ่กับยอดสูงอันปกคลุมด้วยหิมะ เขาได้เห็นทะเลเมดิเตอเรเนียนสีน้ำเงินสด และได้เห็นงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ในกรุงโรม แม้เวลานั้นเขาจะมีอายุเพียง 6 ปี แต่ก็สามารถจำการเดินทางครึ่งปีนั้นได้อย่างแม่นยำ พวกเขาอยู่ในเนเปิลส์หลายเดือนก่อนจะย้ายกลับมายังปารีส
โซฟีต้องติดตามสามีไปยังอิตาลี (เลโอโปลด์ได้เป็นข้าหลวงปกครองแคว้นแห่งหนึ่งใกล้เนเปิลส์) และสเปน (เขาได้เข้าควบคุมดูแลจังหวัดในสเปน 3 จังหวัด) เมื่อนางรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการโยกย้ายแบบชีวิตทหาร ประกอบกับความไม่พอใจกับความเชื่อทางศาสนาของสามี โซฟีจึงแยกอยู่กับเลโอโปลด์ชั่วคราวเมื่อ ค.ศ. 1803 โดยพำนักอยู่ในปารีส นางได้อุปการะเลี้ยงดูอูโกให้เติบโตขึ้นและรับการศึกษาจากที่นี่ ผลจากสิ่งนี้ทำให้งานกวีนิพนธ์และนิยายของอูโกในยุคแรกๆ สะท้อนถึงความรู้สึกภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และความศรัทธา จนกระทั่งในช่วงหลัง เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1848 อูโกจึงเริ่มมีความคิดต่อต้านการศึกษาที่ภักดีต่อราชวงศ์และคาทอลิก หันไปยกย่องแนวคิดสาธารณรัฐนิยมและเสรีนิยม

การสร้างผลงานสำคัญ


ภาพประกอบ คนค่อมแห่งนอทเทอร์ดามฉบับดั้งเดิม วาดโดย Alfred Barbou (ค.ศ. 1831)
ผลงานนิยายชิ้นสำคัญชิ้นแรกของอูโกเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1929 สะท้อนถึงแนวคิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่แทรกอยู่ในงานช่วงหลังๆ ของเขาแทบทั้งหมด Le Dernier jour d'un condamné ("วันสุดท้ายของนักโทษประหาร") เป็นงานที่ส่งอิทธิพลต่อนักเขียนยุคต่อมาหลายคน เช่น อัลเบิร์ต คามุส ชาร์ลส์ ดิกเก้นส์และ ฟิวดอร์ โดสตอฟสกี งานเขียนเรื่อง Claude Gueux ในปี ค.ศ. 1834 เป็นเรื่องสั้นเชิงพรรณนาเกี่ยวกับชีวิตจริงของฆาตกรคนหนึ่งที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาอูโกยอมรับว่าเป็นงานนำร่องไปสู่ผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคม เรื่อง Les Misérables ("เหยื่ออธรรม") แต่งานเขียนนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกของอูโกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงคือ Notre-Dame de Paris ("คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม") ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1831 และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว ผลกระทบหนึ่งจากนวนิยายเรื่องนี้คือมหาชนหลั่งไหลกันไปเยือนมหาวิหารโนเตรอดามหลังจากอ่านนวนิยาย ทำให้นครปารีสต้องละอายที่ทอดทิ้งมหาวิหารมิได้ฟื้นฟูบูรณะมาเป็นเวลานาน หนังสือเล่มนี้ยังส่งผลให้มีการปรับปรุงอาคารใหม่ให้เป็นแบบยุคก่อนเรเนสซองส์ และต่อมาก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
อูโกเริ่มวางแผนการเขียนนวนิยายเรื่องเอกของเขา คือ เหยื่ออธรรม ให้มีเนื้อหาสะท้อนความทุกข์ยากและความอยุติธรรมในสังคมตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1830 และใช้เวลายาวนานกว่า 17 ปีเพื่อเขียนขึ้นมาจนสำเร็จและได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1862 ความพิถีพิถันในคุณภาพของนวนิยายทำให้หนังสือเป็นที่ต้องการและมีการประมูลแย่งชิงกันมาก สำนักพิมพ์ในเบลเยียมแห่งหนึ่งคือ Lacroix and Verboeckhoven ถึงกับจัดแคมเปญพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการออกหนังสือข่าวเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้เป็นเวลา 6 เดือนเต็มก่อนกำหนดวางแผง ทั้งยังมีการตีพิมพ์เพียงแค่ครึ่งแรกของนิยาย ("Fantine") ออกวางจำหน่ายในเมืองใหญ่พร้อมๆ กัน หนังสือที่พิมพ์แต่ละคราวจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมฝรั่งเศส มีการวิพากษ์วิจารณ์นิยายเรื่องนี้อย่างรุนแรง เช่น Taine กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เสแสร้งไม่จริงใจ Barbey d'Aurevilly วิจารณ์ว่าใช้ภาษาหยาบคายสามหาว พี่น้อง Goncourts เปรียบว่าเป็นของเทียม และ Baudelaire ผู้เขียนแนะนำนิยายเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ก็ยังวิจารณ์ว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่ามัน "ไร้รสนิยมและไม่ได้เรื่อง" ถึงกระนั้น เหยื่ออธรรม ก็พิสูจน์ความนิยมในตัวเองได้ด้วยปริมาณการขายอย่างมากมายและยังกลายเป็นวาระสำคัญในการประชุม French National Assembly ในเวลาต่อมา นิยายเรื่องนี้ยังคงเป็นที่นิยมตราบจนถึงปัจจุบัน และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีอย่างบ่อยครั้งยิ่งกว่านวนิยายเรื่องอื่นในแนวนี้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อยนิด[4]

ภาพวาดประกอบ เหยื่ออธรรม ฉบับดั้งเดิม วาดโดย Émile Bayard (ค.ศ. 1862)
การติดต่อโต้ตอบระหว่างอูโกกับสำนักพิมพ์ของเขา Hurst & Blackett เมื่อ ค.ศ. 1862 จัดเป็นการโต้ตอบที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าในเวลาที่ เหยื่ออธรรม (ซึ่งเป็นหนังสือหนากว่า 1200 หน้า) วางแผงนั้น อูโกอยู่ระหว่างเดินทางพักผ่อน เขาส่งโทรเลขไปถึงสำนักพิมพ์ว่า "?" ซึ่งสำนักพิมพ์ส่งตอบมาว่า "!"
นวนิยายเรื่องต่อมาของอูโก คือ Les Travailleurs de la Mer (ผู้ตรากตรำแห่งท้องทะเล) ซึ่งเขาหันเหแนวทางไปจากแนวสังคม-การเมือง นิยายตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1866 และได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่งอาจเป็นผลจากความสำเร็จอย่างสูงของ เหยื่ออธรรม ก็ได้ อูโกเขียนเรื่องนี้เพื่ออุทิศแด่เกาะแห่งเจอร์นซีย์ซึ่งเขาได้ไปลี้ภัยอยู่นานถึง 15 ปี เขาพรรณนาถึงสงครามระหว่างชายคนหนึ่งกับทะเลและสิ่งมีชีวิตอันน่าสะพรึงกลัวจากมหาสมุทรห้วงลึก คือ ปลาหมึก ซึ่งทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ปลาหมึกไปทั่วนครปารีส นับแต่อาหาร งานนิทรรศการ ไปจนถึงหมวกปลาหมึกและงานสังสรรค์ คำที่ชาวเจอร์นซีย์ใช้เรียกปลาหมึก (pieuvre; ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงปลาหมึกยักษ์) ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาฝรั่งเศสอันเป็นผลจากคำที่ใช้ในนิยายเรื่องนี้ อูโกหวนกลับมาเขียนงานเกี่ยวกับการเมืองและสังคมอีกครั้งในนวนิยายเรื่องถัดไปคือ L'Homme Qui Rit (คนที่หัวเราะ) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1869 และได้สร้างภาพอันล่อแหลมเกี่ยวกับคนชั้นสูงในสังคม แต่นิยายเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเทียบกับเรื่องก่อนๆ อูโกเริ่มพิจารณาตัวเองว่าห่างชั้นกับนักเขียนร่วมสมัยคนอื่นๆ เช่น Flaubert และ Zola ซึ่งมีงานเขียนที่กำลังเป็นที่นิยม นวนิยายเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Quatrevingt-treize (เก้าสิบสาม) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1874 เขาเขียนเรื่องที่ก่อนหน้านี้เคยหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด คือยุคสมัยแห่งความหวาดหวั่นระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้ว่าในเวลาที่ตีพิมพ์นั้นชื่อเสียงของอูโกเริ่มลดน้อยลงแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยอมรับกันว่า เก้าสิบสาม เป็นหนึ่งในผลงานของอูโกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น