ชีวิตตอนต้นอ็องตวน ลาวัวซีเย เกิดในตระกูลผู้ดีตระกูลหนึ่ง ต่อมาได้ศึกษาต่อยังวิทยาลัยมาซาแร็ง (Mazarin College) ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ พฤกษศาสตร์ และเคมี เขามีความสนใจอย่างแรงกล้าในวิชาเคมี โดยการชักจูงของเอเตียน กงดียัก (Étienne Condillac)
ต่อมา อ็องตวนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส พออายุได้ 25 ปี เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับการจุดไฟตามถนน ต่อมาในปี พ.ศ. 2314 เขาได้แต่งงานกับมารี-อาน ปีแยเร็ต ปอลซ์ (Marie-Anne Pierrette Paulze) ซึ่งมีอายุเพียง 13 ปี ในขณะที่อ็องตวนอายุได้ 28 ปี
ผลงานที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์ช่วงปี พ.ศ. 2318 อ็องตวนได้พัฒนาการผลิตดินปืน และการใช้โพแทสเซียมไนเตรต หรือดินประสิว ในการเกษตร งานที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาก็คือ การทดลองเกี่ยวกับปฏิกิริยาการเผาไหม้ เขากล่าวว่าการเผาไหม้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับออกซิเจน และการสลายสารอาหารในสิ่งมีชีวิต ก็คือปฏิกิริยาการเผาไหม้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ช้าและอ่อนกว่า จนทำให้ทฤษฎีโฟลจิสตัน ซึ่งกล่าวว่า เมื่อสสารถูกเผาไหม้ ก็จะปล่อยสารที่เรียกว่าโฟลจิสตันออกมา ต้องมีอันยกเลิกไป
นอกจากนี้ อ็องตวนยังได้ค้นพบว่า "อากาศที่ไหม้ไฟได้" ของเฮนรี คาเวนดิช ซึ่งอ็องตวนเรียกมันว่า ไฮโดรเจน (ภาษากรีกหมายถึง ผู้สร้างน้ำ) เมื่อรวมกับออกซิเจนจะได้หยดน้ำ ซึ่งไปตรงกับผลการทดลองของโจเซฟ พริสต์ลีย์
ในด้านปริมาณสัมพันธ์ (stoichiometry) อ็องตวนได้ทดลองเผาฟอสฟอรัสและกำมะถันในอากาศ และพิสูจน์ได้ว่ามวลของผลิตภัณฑ์มีมากกว่ามวลของสารตั้งต้น ซึ่งมวลที่เพิ่มได้มาจากอากาศนั่นเอง จึงทำให้เกิดกฎการอนุรักษ์มวล หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กฎทรงมวล
หนังสือของเขาชื่อ Traité Élémentaire de Chimie พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2332 ภายในมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎการอนุรักษ์มวล และปฏิเสธการมีอยู่ของทฤษฎีโฟลจิสตัน
ด้านกฎหมายและการเมือง
นอกจากที่อ็องตวนจะศึกษาวิทยาศาสตร์แล้ว เขายังศึกษากฎหมายและการเมืองจนได้เป็นเนติบัณฑิต เมื่ออายุ 26 ปี เขาได้เป็นเจ้าพนักงานเก็บอากร ซึ่งเขาก็ได้ปรับปรุงระบบภาษีอากรและการคลัง พร้อมกับพัฒนาหน่วยวัดในระบบเมตริก ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศฝรั่งเศส
ชีวิตบั้นปลายต่อมาอ็องตวนถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎโดยคณะปฏิวัติฝรั่งเศส และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2337 ผู้พิพากษาให้เหตุผลในการตัดสินครั้งนี้ว่า “สาธารณรัฐของเราไม่ต้องการนักปราชญ์” จนทำให้โฌแซ็ฟ-หลุยส์ ลากร็องฌ์ นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าวอย่างโศกเศร้าเสียใจว่าฝรั่งเศสจะไม่มีอะไรที่เหมือนผลงานของอ็องตวนไปชั่วศตวรรษ หนึ่งปีครึ่งให้หลังปรากฏว่าความผิดของอ็องตวนนั้นหามีไม่ ทรัพย์สินส่วนตัวของเขาถูกส่งให้แก่ภรรยาหม้าย พร้อมด้วยข้อความว่า "ถึงแม่หม้ายลาวัวซีเย ผู้ถูกตัดสินอย่างผิดพลาด"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น