วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

แมว


แมวหรือ แมวบ้าน (ชื่อวิทยาศาสตร์Felis catus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อยู่ในตระกูลFelidae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับสิงโตและเสือดาว ต้นตระกูลแมวมาจากเสือไซบีเรียน (Felis tigris altaica) ซึ่งมีช่วงลำตัวตั้งแต่จมูกถึงปลายหางยาวประมาณ 4 เมตร แมวที่เลี้ยงตามบ้าน จะมีรูปร่างขนาดเล็ก ขนาดลำตัวยาว ช่วงขาสั้นและจัดอยู่ในกลุ่มของประเภทสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร มีเขี้ยวและเล็บแหลมคมสามารถหดซ่อนเล็บได้เช่นเดียวกับเสือ สืบสายเลือดมาจากแมวป่าที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งลักษณะบางอย่างของแมวยังคงพบเห็นได้ในแมวบ้านปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแมวพันธุ์แท้หรือแมวพันธุ์ทาง
แมวเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 9,500 ปีก่อน  ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของแมวคือการทำมัมมี่แมวที่ค้นพบในสมัยอียิปต์โบราณ หรือในพิพิธภัณฑ์อังกฤษในกรุงลอนดอน มีการแสดงสมบัติที่นำออกมาจากปิรามิดโบราณแห่งอียิปต์ ซึ่งรวมถึงมัมมี่แมวหลายตัว ซึ่งเมื่อนำเอาผ้าพันมัมมี่ออกก็พบว่า แมวในสมัยโบราณทุกตัวมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือเป็นแมวที่มีรูปร่างเล็ก ขนสั้นมีแต้มสีน้ำตาล มีความคล้ายคลึงกับพันธุ์ในปัจจุบัน ที่เรียกว่าแมวอะบิสสิเนียน

ลักษณะเฉพาะ

แมวเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีรูปร่างเพรียว มีหางยาว และบังคับหางได้ มีใบหน้าที่เรียวและโครงหน้าแหลมเช่นเดียวกับเสือและสัตว์อื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน เป็นสัตว์ที่มีเล็บแหลมคม และมีตาที่สามารถมองเห็นในเวลากลางคืนได้ดี แมวจะนอนหลับในเวลากลางวัน และตื่นในเวลากลางคืน


ตกจากที่สูง
แมวเป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่มีในสัตว์ประเภทอื่น คือ ความสามารถของแมวเมื่อตกจากที่สูง ซึ่งพบว่าแมวแทบจะไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลยหรือบาดเจ็บก็เพียงเล็กน้อย เพราะแมวสามารถพลิกตัวกลับกลางอากาศได้และลงในท่วงท่าที่ปลอดภัยที่สุด ในลักษณะของหลักการโมเมนตัมเนื่องจากแมวสามารถบิดตัวเองได้โดยใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อ โดยจะหมุนขาคู่หน้าไปในทิศทางลงพื้นก่อน โดยจะหดขาคู่หน้าลงและยื่นขาหลังออก เมื่อแมวยืดขาหลังออก ส่วนขาหน้าหดลง การหมุนในสองทิศทางนี้จึงมีปริมาณไม่เท่ากัน โดยขาคู่หน้าหมุนได้เร็วกว่าขาคู่หลัง ขณะที่กำลังตกแมวจะคอยปรับแต่งโมเมนต์ความเฉื่อย โดยการหดและยืดขา จนหงายกลับมาในตำแหน่งที่เท้าลง เมื่อถึงพื้นขาจึงลงก่อนและช่วยให้ปลอดภัย
มีการทดสอบด้วยการโยนแมวจำนวน 132 ตัว ตกจากตึกที่มีความสูงตั้งแต่ 2-32 ชั้น พบว่า 67 % ของแมวที่ตกลงมาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น และเมื่อได้รับการรักษาพบว่ามีถึง 90 % ที่จะหายเป็นปกติ 
ซึ่งจากการที่แมวตกจากที่สูงโดยไม่เป็นอันตรายแบบนี้นั้น จึงมีสำนวนในภาษาไทยเรียกว่า "แมว 9 ชีวิต" อันหมายถึง บุคคลที่ผ่านความเป็นความตายมาหลายครั้งแล้วยังมีชีวิตรอดมาได้ เช่นเดียวกับแมวนี่เอง


ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงคลายเหงาที่นิยมมากชนิดหนึ่งใกล้เคียงกับสุนัข แมวบางสายพันธุ์เช่น แมวสีสวาด และแมววิเชียรมาศ เป็นแมวไทยที่สวยงามเป็นที่ชื่นชอบทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์ มีการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์เพื่อขาย ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้อุจจาระของแมวสามารถนำมาทำปุ๋ยได้


แมวพันธุ์ต่าง ๆ
แมวในโลกนี้มีมากมายหลายพันธุ์ โดยเฉพาะแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงไม่นับรวมสัตว์ตระกูลแมว พวกเสือ แมวดาว แมวป่า หรือ สิงโต แมวเลี้ยง หรือที่เราเรียกว่า Domestic cat นั้นมีวิวัฒนการมาจากแมวป่าในธรรมชาติจากหลายภูมิภาคของโลก ชื่อเรียกพันธุ์แมวที่แตกต่างกันที่เรียกกันทุกวันนี้ เช่น เปอร์เซีย แมวสยาม บาลิเนส อะบิสสิเนียน และโซมาลี นั้น แสดงถึงถิ่นกำเนิดที่แสดงถึงภูมิศาสตร์ที่เขาถือกำเนิดมา ในการจัดนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษเมื่อปีคริสศักราช 1871 ถือเป็นการเริ่มต้นในการนำเสนอพันธุ์แมวในระดับนานาชาติ ทำให้ผู้สนใจในแมวมีความตื่นตัว แต่การแสดงในครั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นแมวเปอร์เซียและแมวขนสั้นเป็นหลัก


การจัดจำแนกแมว
รายชื่อสายพันธุ์แมว
โดยทั่วไปมีการแบ่งพันธุ์แมวออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ แมวขนยาว (longhaired cat) และแมวขนสั้น (shorthaired cats) การแบ่งพันธุ์ด้วยวิธีนี้ทำให้จำแนกแมวออกได้ตามลักษณะพันธุ์ที่จำเพาะต่างๆ กัน การจัดจำแนกแมวในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการกำหนดมาตรฐานของพันธุ์แมวที่เป็นที่ยอมรับกัน ทั้งนี้ลักษณะมาตรฐานของพันธุ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ การใช้ชื่อเรียกพันธุ์แมวที่แสดงถึงลักษณะของพันธุ์ที่จำเพาะมีความแตกต่างกันระหว่างในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีบางพันธุ์มีการจัดจำแนกเฉพาะต่างหากในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แมวมีมากมายหลายพันธุ์ เช่น แมวเปอร์เซีย แมววิเชียรมาศ ฯลฯ


แมวไทย
คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักว่าแมวไทยจริงๆนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ทว่าแมวไทยพันธุ์แท้นั้นกลับไปมีชื่อเสียงโด่งดังที่ต่างประเทศมากกว่าในเมืองไทย ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นพันธุ์อันเลิศพันธุ์หนึ่งในโลก และมีความมหัศจรรย์ยิ่งกว่าพันธุ์ใดๆ เมื่อปี พ.ศ. 2427 ชาวอังกฤษชื่อนายโอเวน กูลด์ (Owen Gould) กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้นำแมวไทยคู่หนึ่งจากประเทศไทยไปฝากน้องสาวที่อังกฤษ อีกหนึ่งปีต่อมา แมวคู่นี้ถูกส่งเข้าประกวดในงานประกวดแมวที่คริสตัลพาเลซ กรุงลอนดอน ปรากฏว่าชนะเลิศได้รางวัลที่หนึ่ง ทำให้ชาวอังกฤษพากันแตกตื่นเลี้ยงแมวไทยกันจนมีสโมสรแมวไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2443 ชื่อว่า The Siamese Cat Clubs ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ได้มีการตั้งสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษขึ้น หรือ The Siamese Cat Society of the British Empire ขึ้นมาอีกสมาคมหนึ่ง
แมวที่นายโอเวน กูลด์ นำไปจากประเทศไทยนั้น มีแต้มสีครั่งหรือน้ำตาลไหม้เก้าแห่ง คือหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หาง และอวัยวะเพศ ซึ่งถือว่าเป็นแต้มสีที่อยู่ในบริเวณที่เหมาะสมและไม่เลอะเทอะเหมือนแมวพันธุ์อื่น และเมื่อนำแมวไทยไปผสมกับแมวพันธุ์อื่น จะได้แต้มสีตามร่างกายในตำแหน่งเดียวกัน แต่รูปร่างจะไม่สง่างามเท่า และอุปนิสัยจะไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งแมวไทยพันธุ์นี้เป็นพันธุ์แรกที่ชาวต่างชาติรู้จัก จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า Siamese Cat หรือ Seal Point ส่วนในสมุดข่อยโบราณของไทยให้ชื่อแมวไทยลักษณะนี้ว่า "แมววิเชียรมาศ" คุณสมบัติอันโดดเด่นของแมวไทยอีกประการหนึ่งก็คือ อุปนิสัยที่มีความฉลาด รักบ้าน รักเจ้าของ เป็นตัวของตัวเอง รู้จักประจบ และที่สำคัญคือ การรักอิสระเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัว และทำให้แมวไทยเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วโลก และเป็นที่น่าสังเกตว่า การผสมพันธุ์ระหว่างแมวไทยและแมวต่างชาตินั้น แม้จะได้แมวที่มีลักษณะและสีเหมือนแมวไทย แต่จะไม่ได้อุปนิสัยตามอย่างแมวไทยไปด้วย นอกจากว่าจะเป็นการผสมระหว่างแมวไทยด้วยกันเองเท่านั้น
ในสมุดข่อยโบราณได้กล่าวถึงแมวไทยไว้ถึง 23 ชนิด ซึ่งเป็นแมวดี (แมวให้คุณ) 17 ชนิด และแมวร้าย (แมวให้โทษ) 6 ชนิด ซึ่งในปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 13 ชนิด เหลือเพียง 4 ชนิดเท่านั้นในปัจจุบัน ได้แก่แมววิเชียรมาศ แมวโคราช แมวศุภลักษณ์ และแมวโกญจา ส่วนแมวขาวมณีนั้นแม้จะไม่ได้บันทึกอยู่ในสมุดข่อยก็ตาม แต่ก็ถือเป็นแมวไทย ต่อมาภายหลังได้ค้นพบแมวแซมเสวตรซึ่งเดิมทีเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยค้นพบไม่กี่ปีมานี้
 

                                     
                         

                                                   
                                               
                                                    

                                                   

                                        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น