สมเด็จพระจักรพรรดินีโร (อังกฤษ: Nero) หรือที่รู้จักในชื่อ นีโรจอมโหด เป็นจักรพรรดิรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จูลิโอ-คลอเดียน แห่งจักรวรรดิโรมัน เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 37 ที่เมืองแอนเธียม แห่งจักรวรรดิโรมัน บิดาชื่อ งาเออุส โดมิทิอุส อาเฮโนบาร์บุส (Gnaeus Domitius Ahenobarbus) มารดาชื่อ อากริพพินา ซึ่งมีศักดิ์เป็นถึงน้องสาวของจักรพรรดิคาลิกูลา (Caligula) จักรพรรดิรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จูลิโอ-คลอเดียน มีชื่อเต็มตอนเกิดว่า ลูเซียส คลอดิอุส นีโร
เหตุการณ์ในปีต่างๆ
- ค.ศ. 39 เกิดศึกใหญ่ระหว่างโรมันกับเยอรมนี คาลิกูลาจึงนำทัพไปรบ แต่ก็มีข่าวออกมาว่า อากริพพินา น้องสาวของพระองค์กำลังวางแผนโค่นอำนาจจากพระองค์ไป จึงทรงสั่งเนรเทศอากริพพินาไปยังเกาะพอนเธียน ทั้ง ๆ ที่นีโรยังเล็กมาก เขาจึงต้องอาศัยอยู่กับพ่อ
- ค.ศ. 40 งาเออุส อาเฮโนบาร์บุส พ่อของนีโรเสียชีวิต เนื่องจากป่วยเป็นโรคบวมน้ำ คลอดิอุส (พี่ชายของพ่อของจักรพรรดิคาลิกูลา) จึงรับเลี้ยงดูนีโรต่อ ซึ่งในช่วงปีนี้ นีโรมีความฝันอยากจะเป็นศิลปิน
- ค.ศ. 41 จักรพรรดิคาลิกูลาถูกลอบสังหารขณะชมกีฬา สภาสูงสุดแห่งโรม จึงมีมติให้คลอดิอุสครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 เขาเป็นคนดี ปกครองบ้านเมืองได้สงบร่มเย็นตลอดรัชกาล เขานำอากริพพินากลับมายังโรมัน มาพบนีโร ทำให้แม่ลูกได้พบกัน และอยู่ด้วยกันอย่างสงบ อากริพพินาแต่งงานกับเศรษฐีคนหนึ่งเพื่อยกฐานะตนให้รวยขึ้น ต่อมาเศรษฐีเสียชีวิตลง อากริพพินาและนีโรจึงได้สมบัติไปเต็มๆ
- ค.ศ. 48 ภรรยาของคลอดิอุสถูกจับได้ว่าคิดกบฏ จึงถูกสั่งประหารชีวิต อากริพพินาจึงพยายามจะแต่งงานกับคลอดิอุส เพื่อยกฐานะนีโรให้เป็นบุตรบุญธรรมของจักรพรรดิ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าอากริพพินาทำสำเร็จ นีโรจะมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะครองราชย์ต่อจากคลอดิอุส
- ค.ศ. 49 อากริพพินาแต่งงานกับคลอดิอุสได้สำเร็จ นีโรได้กลายเป็นบุตรบุญธรรมของคลอดิอุส นีโรจึงเปลี่ยนชื่อเต็มใหม่ ว่า นีโร คลอดิอุส ซีซาร์ ดรุสซุส (Nero Claudius Caesar Drusus)
- ค.ศ. 50 คลอดิอุสแต่งตั้งเลื่อนยศอากริพพินาเป็นออกุสตา (จักรพรรดินี) และเลื่อนยศนีโรขึ้นเป็นทายาทโดยชอบธรรม (ไม่ใช่บุตรบุญธรรมอีกต่อไป แต่เป็นทายาทแท้ๆ)
- ค.ศ. 51 คลอดิอุสประกาศให้นีโร เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ทั้งที่อายุยังน้อย ต่อมาไม่นานยังแต่งตั้งนีโรเป็นข้าหลวงและมอบสิทธิ์ให้สามารถเข้าร่วมอภิปรายในสภาสูง
- ค.ศ. 53 นีโรได้แต่งงานกับคลอเดีย ออคเตเวีย ซึ่งเป็นลูกสาวของจักรพรรดิคลอดิอุส
- ค.ศ. 54 วันที่ 13 ตุลาคม จักรพรรดิคลอดิอุส ถูกลอบฆ่า จนเสียชีวิต นีโรจึงได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิรัชกาลที่ 5 นีโรปกครองจักรวรรดิโรมันได้อย่างสงบสุขเรื่อยมาจนกระทั่ง
- ค.ศ. 58 นีโรได้พบกับหญิงงามคนหนึ่งชื่อว่าปอปเปีย นีโรสนิทสนมกับปอปเปียอย่างรวดเร็ว และในปีเดียวกัน นีโรก็แต่งงานกับปอปเปีย และแต่งตั้งเพื่อนสนิทชายของปอปเปียนามว่า ออตโต เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ทั้งคู่ปรนนิบัติและยุยงนีโรจนเกิดความลุ่มหลงในอำนาจ เกียจคร้านไม่สนใจหน้าที่การบริหารบ้านเมือง และเริ่มพยายามวางตัวเป็นศิลปินมือฉมัง บังคับประชาชนให้เข้าชมการแสดงของพระองค์เมื่อพระองค์อยากแสดง และห้ามใครลุกไปไหนตลอดการแสดง แต่ความจริงแล้วนีโรไม่ค่อยมีความสามารถทางด้านนี้เท่าใดนัก แต่ไม่มีใครกล้าบอกนีโร
- ค.ศ. 59 พระนางอากริพพินามองเห็นความเปลี่ยนไปของนีโร และเริ่มจะทนไม่ไหวของการที่นีโรเปลี่ยนไปอย่างนี้ จึงพยายามตักเตือนนีโรเพื่อดึงนีโรกลับมาให้เหมือนเดิม แต่กลับกลายเป็นว่าทำให้นีโรและพระนางอากริพพินาระหองระแหงกัน ปอปเปียและออตโต จึงฉวยโอกาสนี้ยุยงให้นีโรฆ่านางอากริพพินาทิ้งเสีย โดยใช้วิธีวางแผนลอบสังหาร แผนนี้มีเพียงนีโร ปอปเปีย และออตโตเท่านั้นที่รู้ แผนการลอบสังหารครั้งแล้วครั้งเล่าก็ทำไม่สำเร็จ จนกระทั่งพระนางอากริพพินารู้เข้าถึงการที่นีโรลอบสังหารตน จึงช้ำใจฆ่าตัวตาย
- ค.ศ. 62 นีโรหย่าขาดกับนางคลอเดีย ออคเตเวีย และในปีเดียวกันนั้น นางก็เสียชีวิต อย่างลึกลับ จนถึงปัจจุบันยังหาสาเหตุไม่ได้
- ค.ศ. 64 วันที่ 21 มกราคม ปอปเปียได้ให้กำเนิดลูกสาวของตนกับนีโร ชื่อว่า คลอเดีย ออกุสตา ซึ่งเป็นลูกคนแรกของนีโร นีโรดีใจมาก จึงสถาปนาปอปเปียเป็นจักรพรรดินี และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต แต่ 4 เดือนต่อมา คลอเดีย ออกุสตา ก็ป่วยจนเสียชีวิต นีโรและปอปเปียเศร้ามาก นีโรจึงประกาศให้คลอเดีย ออกุสตา เป็นเทพีองค์ใหม่ของโรมัน สร้างรูปบูชาและจัดนักบวชไว้คอยรับใช้รูปบูชา
- ค.ศ. 64 วันที่ 18 กรกฎาคม ตอนกลางคืน เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ร้านขายวัตถุไวไฟแห่งหนึ่งในกรุงโรม ประกอบกับการที่ถนนกรุงโรมในช่วงนั้นแคบ ทำให้ไฟจากร้านค้าวัตถุไวไฟนั้น ลุกลามไปยังบ้านเรือนหลังอื่นๆอย่างรวดเร็ว และไม่นานนัก ไฟก็ไหม้ทั่วเมือง นีโรรู้ข่าวก็รีบมาดูเปลวเพลิงที่หอคอยมิเซนุส (Maecenas) แล้วก็บอกว่าเปลวเพลิงนั้นช่างสวยงาม นั่งมองไฟผลาญกรุงโรมอย่างสบายอารมณ์ พร้อมทั้งนำเครื่องดนตรีมาบรรเลงอย่างสุนทรีย์โดยไม่ส่งทหารไปช่วยดับไฟ
- ค.ศ. 64 วันที่ 25 กรกฎาคม เปลวเพลิงที่ผลาญกรุงโรมมาตลอด 6 วัน 6 คืนดับลงในวันที่ 7 เผาบ้านเผาเรือนไป 132 หลัง ใน 4 หมู่บ้าน นีโรสั่งให้เวนคืนที่ดินจำนวนหนึ่งมาสร้างพระราชวังทองคำ (Golden Palace) ประกอบกับการที่นีโรไม่ส่งทหารไปช่วยดับไฟ และในอดีตพระองค์เคยคิดจะเปลี่ยนชื่อกรุงโรมเสียใหม่ว่า กรุงนีโรโพลิส (Neropolis) ประชาชนจึงปักใจเชื่อว่านีโรเป็นผู้เผากรุงโรม (นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเองก็บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่นีโรจะเป็นผู้เผากรุงโรม)
- นีโรจึงสุ่มสี่สุ่มห้าบอกไปว่าผู้ที่นับถือลัทธิคริสเตียน (ศาสนาคริสต์เมื่อเกือบสองพันปีก่อนในจักรวรรดิโรมันเป็นเพียงแต่ลัทธิเล็กๆ มิใช่ศาสนาอันยิ่งใหญ่เหมือนปัจจุบัน) เป็นกลุ่มคิดกบฎและพยายามเผาโรม จึงเกิดเป็นการประหารหมู่ชาวคริสเตียนในโรมันด้วยข้อหาเผาโรม ประหารโดยวิธีให้อดอาหารสัตว์ป่าในโคลอสเซียมจนหิวโซ และนำชาวคริสเตียนไปปล่อยที่สนามโคลอสเซียม และปล่อยสัตว์ป่าให้มารุมฉีกทึ้งชาวคริสเตียนต่อหน้าผู้ชม นอกจากนี้ยังเก็บภาษีอย่างหนักเพื่อมาซ่อมแซมบ้านเมืองและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ล่มจมของโรม ทำให้ประชาชนคลางแคลงใจในนีโร จนเกิดเป็นคำติดปากประชาชนชาวโรมว่า "เนโรเผาโรม" (Nero Burning Rome) ซึ่งในปัจจุบัน วลีอายุกว่า 2,000 ปีนี้ ได้ถูกใช้เป็นชื่อโปรแกรมซอฟต์แวร์เขียนแผ่นซีดี/ดีวีดี
- แต่นีโรก็เปิดพระราชวังให้คนที่ไร้บ้านมาอาศัย พร้อมทั้งจัดหาข้าวน้ำให้ประชาชนดื่มกินฟรี นอกจากนี้ยังสั่งให้ออกแบบการสร้างเมืองใหม่ให้ถนนกว้างขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก และเพื่อไม่ให้ชาวบ้านที่มีโฉนดต้องเสียที่ดินไปเพราะการขยายถนนไปเบียด จึงจัดสรรที่ดินใหม่ให้เขตบ้านเรือนและถนนแผ่กว้าง ทำให้ความเป็นไปได้ที่นีโรจะเป็นผู้เผาโรมลดลง ชาวบ้านบางส่วนก็เริ่มเชื่อใจ และจนถึงปัจจุบันยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุของเพลิง
- แต่ที่กล่าวมานั้น ชาวบ้านที่เชื่อใจเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ชาวบ้านหลายส่วนไม่เชื่อใจนีโร และประท้วงถอดถอนนีโร เป็นการประท้วงที่รุ่นแรงและยืดเยื้อ
- ค.ศ. 66 ปอปเปียตั้งครรภ์อีกครั้ง แต่นีโร กำลังเครียดกับกลุ่มผู้ประท้วงที่จะปลดตนจากตำแหน่งจักรพรรดิให้ได้ จึงไม่ค่อยได้มาอยู่ที่วังมาดูแลปอปเปียและลูกในครรภ์ วันหนึ่งในปีเดียวกันนั้น นีโรกลับมาอยู่ที่วัง และพูดจาบางอย่างที่ทำให้ปอปเปียโมโห ปอปเปียจึงด่าว่านีโรอย่างหนัก นีโรที่กำลังเครียดจึงพลั้งมือฆ่าปอปเปียตายพร้อมทั้งลูกในครรภ์
- ค.ศ. 67 นีโรเครียดจัด ประกอบกับช่วงนั้นที่กรีซกำลังจะจัดกีฬาโอลิมปิกขึ้น นีโรตัดสินใจไปร่วมแข่งขัน ทั้งๆที่บ้านเมืองยังตึงเครียด ทิ้งภาระหน้าที่ไว้กับสภาสูง ระหว่างที่นีโรไม่อยู่นั้น สภาสูงลงมติว่านีโรไม่ควรเป็นจักรพรรดิอีกต่อไป...
- ค.ศ. 68 นีโรกลับจากกีฬาโอลิมปิก สภาสูงจึงส่งคนมาจับกุมโค่นอำนาจจักรพรรดินีโร นีโรจึงฆ่าตัวตายในวันที่ 9 มิถุนายนขณะอายุไม่ถึง 31 ปี และการที่พระองค์ไม่ทีทายาทเลย ทำให้ราชวงศ์จูลิโอ-คลอเดียน ต้องสิ้นสุดลง
อีกมุมมองหนึ่งของนักประวัตศาสตร์ กรณีข้อกล่าวหา เนโรเผากรุงโรมเมื่อ ค.ศ. 64
"แทกซิตัส" นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันที่มีชื่อเสียงในยุคของนีโรได้บันทึกข้อกล่าวหาไว้และถูกเชื่อถือกันมาตลอดระยะเวลา 2,000 กว่าปี ดังนี้
- ในระหว่างที่เนโรออกไปตากอากาศที่แอนติอุมเมืองชายทะเลได้เกิดเพลิงไหม้ในกรุงโรมและเมื่อเนโรทราบข่าวแต่พระองค์ก็ไม่เร่งรีบกลับพระนครอย่างใด
- คฤหาสถ์ของบรรดาวุฒิสมาชิกโรมันที่สร้างจากอิฐที่ไม่น่าติดไฟ แต่กลับถูกเพลิงเผาทำลายไปสิ้นนั้นน่าจะเกิดจากการวางเพลิงจากภายในแล้วสั่งทหารโรมันคอยเฝ้าขู่เพื่อไม่ให้มีการดับไฟ เนื่องจากความโกรธแค้นที่บรรดาวุฒิสมาชิกไม่ยอมอนุมัติให้พระองค์สร้างกรุงโรมใหม่
- ทิศทางเพลิงดูวิปริตผิดธรรมดา ไฟลามขึ้นสู่ทิศเหนือ และบ้างก็ลงใต้ ทั้งที่ลมพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นลักษณะของการวางเพลิงอย่างชัดเจน
ปัจจุบัน เอริก วาร์นเนอร์ และ เฮนรี่ เฮิร์สต์ นักประวัติศาสตร์สองท่านที่มีชื่อเสียงไม่เชื่อในบันทึกของแทกซิตัส เนื่องจากในขณะที่กรุงโรมเกิดเพลิงไหม้นั้นแทกซิตัสมีอายุเพียง 8 ขวบ ซึ่งเข้าใจว่าแทกซิตัสอาจจะบันทึกตามคำบอกกล่าวของชาวโรมในสมัยนั้น โดยมีข้อสังเกตว่า
- แท้จริงแล้วมีบันทึกจากนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเนโรบันทึกไว้ว่า เมื่อเนโรทราบข่าวการเกิดเพลิงไหม้ก็รีบรุดกลับกรุงโรมทันที และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารดับเพลิงแห่งโรมด้วยพระองค์เอง
- ได้มีการทดลองสร้างคฤหาสถ์จำลองแบบโรมันซึ่งก่อด้วยอิฐจริงแล้วจุดไฟเผา ปรากฏว่าเมื่อโครงสร้างที่เป็นไม้ภายในไหม้ไฟทำให้เกิดความร้อนถึง 1,100 ดีกรี แม้อาคารที่ก่ออิฐก็แตกพังทลาย
- วิลล่าของเนโรชื่อ โดมุส ทรานซิโตเรีย ที่ทอดยาวตั้งแต่เนินพาลาทีนไปจนถึงเอสควอลีนก็ถูกไฟเผาไปด้วยเช่นกัน
- กลไกการเกิดเพลิงไหม้ใหญ่เนื่องจากกรุงโรมถูกล้อมด้วยเนินเขาสำคัญ 7 ลูก เมื่อไฟไหม้หนักขึ้นก็จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น บนเนินเขาเตี้ยๆ ยังพอมีออกซิเจนเหลืออยู่มากกว่าพื้นดิน ไฟจึงโหมกระพือไปหาออกซิเจนทางเนินเขาที่อยู่ทิศเหนือบ้าง ทิศใต้บ้าง เป็นเรื่องปกติ
อย่างใดก็ตามแต่ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเนโรมีความผิดปกติทางจิตจริง โดยหลักฐานและบันทึกที่ปรากฏอยู่มากมาย แต่มีนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับเนโรอยู่หลายท่านที่บันทึกเรื่องราวที่เป็นธรรมกับเนโรด้วยเช่นกัน เช่น
โยเซฟัส (Josephus) นักประวัติศาสตร์ที่เกิดและโตในรัชกาลของเนโร และมีอายุยืนถึง 70 ปี เขากล่าวว่า แท็กซิตัส และ ซูโตเนียส บันทึกกล่าวว่าร้ายใส่เนโรจนเกินไป เพราะทั้งสองคนนี้อยู่ในสมัยหลังเนโรถึง 50 ปี และสิ่งที่บันทึกล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ได้แต่ฟังมา ไม่ได้เห็นด้วยตาตนเอง
มาร์คัส แอนเนียส ลูคานัส นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเนโรอีกคนหนึ่งบันทึกว่า ไพร่ฟ้าต่างหน้าใสเมื่ออยู่ใต้การปกครองของเนโร เศรษฐกิจของกรุงโรมในขณะนั้นดีมากประชากรต่างร่ำรวย และเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่นั้นถูกเป็นเครื่องมือหาความชอบธรรมให้กับเหล่าสมาชิกสภาสูงในการโค่นอำนาจจักรพรรดิ์เนโร
นีโร | |
---|---|
จักรพรรดิ แห่ง จักรวรรดิโรมัน | |
Bust of Nero at Musei Capitolini, Rome | |
พระนามเต็ม | Lucius Domitius Ahenobarbus (from birth to AD 50) ; Nero Claudius Caesar Drusus Germanicus (from 50 to accession) ; Nero Claudius Caesar Augustus Germanicus (as emperor) |
ราชวงศ์ | Julio-Claudian |
สมัย | 13 ตุลาคม ค.ศ. 54 - 9 มิถุนายน ค.ศ. 68 (Proconsul from 51) |
รัชกาลก่อนหน้า | จักรพรรดิคลอเดียส |
รัชกาลถัดไป | จักรพรรดิกาลบา |
เกิด | 15 ธันวาคม ค.ศ. 37, Antium |
เสียชีวิต | 9 มิถุนายน ค.ศ. 68 (30 ปี), Just outside Rome |
บิดา | Gnaeus Domitius Ahenobarbus |
มารดา | Agrippina the Younger |
บุตร/ธิดา | Claudia Augusta |
หมวดหมู่: จักรพรรดิโรมัน จักรพรรดิโรมันตะวันตก - จักรพรรดิไบแซนไทน์ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น