วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

กุหลาบแวร์ซายส์


กุหลาบแวร์ซายส์ (ญี่ปุ่นベルサイユのばら Berusai No Bara ?) หรือที่รู้จักกันในชื่อของภาษาอังกฤษคือ "เลดี้ออสการ์" (Lady Oscar) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น เรื่องและภาพโดยริโยโกะ อิเคดะ กุหลาบแวร์ซายส์เป็นหนึ่งในการ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักอย่างดีทั่วโลก ถูกตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารมาร์กาเร็ตของสำนักพิมพ์ชูเออิชา ในปี พ.ศ. 2516 และประสบความสำเร็จในทันทีที่วางจำหน่าย ได้รับการตอบรับจากนักอ่านเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้ถูกดัดแปลงเนื้อเรื่องจากการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นละครเวทีภาพยนตร์ชุดการ์ตูนและบัลเลต์ ซึ่งในการแสดงละครเวทีในภาคโอเปร่า ริโยโกะ อิเคดะ ผู้แต่งได้มีส่วนร่วมในการประพันธ์คำร้องสำหรับใช้ในการแสดงละครเวทีในภาคโอเปร่าอีกด้วย
กุหลาบแวร์ซายส์ถูกดัดแปลงเป็นละครเวที ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง และกลายเป็นละครเวทีที่มีการเปิดการแสดงมากรอบที่สุดเช่นกันตามรายงานของนิตยสารทาการาซุกะ รีวิว ในปี พ.ศ. 2526 หนังสือการ์ตูนสองชุดแรกของกุหลาบแวร์ซายส์ ได้รับการแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษโดยเฟรเดริก แอล. ชอดต์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสอนภาษาอังกฤษให้กับชาวญี่ปุ่น และยังได้จัดจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนืออีกด้วย กุหลาบแวร์ซายส์จึงได้ชื่อว่าเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ได้รับการแปลเพื่อการค้าและจัดจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือ
กุหลาบแวร์ซายส์ เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นอิงประวัติศาสตร์ ที่นำเค้าโครงเรื่องจากเรื่องราวและเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสและพระนางมารี อองตัวเนต ถ่ายทอดเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ผ่านตัวละครหลักคือ ออสการ์ ฟรังซัวส์ เดอ จาร์เจและ อังเดร กรังดิเออร์ ในแง่มุมของการปกครองประเทศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กฎระเบียบข้อบังคับในราชการทหาร ระเบียบวินัยและอำนาจหน้าที่ รวมถึงเรื่องราวของความรักฉันท์ชู้สาว มิตรภาพและการต่อสู้ในสงคราม

เนื้อเรื่อง

กุหลาบแวร์ซายส์ เป็นเรื่องราวของออสการ์ ฟรังซัวส์ เดอ จาร์เจ ตัวละครหลักของเรื่อง ในยุคของการปฏิวัติและการเกิดจลาจลภายในประเทศฝรั่งเศส ออสการ์เป็นทายาทคนสุดท้ายของนายพลชาร์เวอเลีย เดอ จาร์เจ ขุนนางแห่งฝรั่งเศสที่มีบุตรสาวถึง 6 คน นายพลจาร์เจตั้งความหวังถึงบุตรที่ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งต้องเป็นบุตรชายเท่านั้นเพื่อสืบทอดตระกูลจาร์เจต่อไปในอนาคต แต่นายพลจาร์เจต้องผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อบุตรคนเล็กถือกำเนิดขึ้นมาเป็นหญิง จึงตัดสินใจที่จะเลี้ยงดูบุตรสาวคนเล็กในแบบชายชาตรีและให้ชื่อว่า "ออสการ์" รวมทั้งสั่งสอนและฝึกฝนในเรื่องศิลปะการต่อสู้ วิชาทางด้านการทหาร การใช้ดาบและปืนให้แก่ออสการ์
เมื่อออสการ์ อายุ 11 ปี นายพลจาร์เจผู้เป็นบิดา ได้นำตัวอังเดร กรังดิเออร์ เด็กรับใช้ภายในคฤหาสน์จาร์เจ หลานชายเพียงคนเดียวของแม่บ้านที่เป็นแม่นมและเลี้ยงดูออสการ์มาตั้งแต่เล็ก เพื่อเป็นเพื่อนเล่นและคู่มือในการฝึกซ้อมดาบแก่ออสการ์ ด้วยวัยที่ใกล้เคียงกันทำให้ทั้งสองสนินสนมกันอย่างรวดเร็ว และมักใช้เวลาส่วนใหญ่ในการฝึกฝนการซ้อมดาบและศิลปะการต่อสู้ ตลอดเวลาอังเดรกลายเป็นผู้ที่พ่ายแพ้ให้แก่ออสการ์ โดยที่อังเดรเป็นฝ่ายเต็มใจในความพ่ายแพ้ของตนเองเพื่อที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับออสการ์ ผู้เป็นทั้งเจ้านาย เพื่อนเล่นและหญิงสาวที่ตนเองแอบหลงรัก
ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสได้มีการต้อนรับพระนางมารี อองตัวเนต เจ้าหญิงแห่งฮังการีและแคว้นโบฮีเมีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรียที่เสด็จมาเพื่ออภิเษกกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส และดำรงตำแหน่งราชินีแห่งฝรั่งเศส ตระกูลจาร์เจได้มีโอกาสรับใช้ราชวงศ์แห่งฝรั่งเศส เมื่อออสการ์เข้ารับราชการเป็นนายทหารรักษาพระองค์ของฝรั่งเศส ตามเจตนารมณ์ของนายพลจาร์เจ เมื่ออายุ 13 ปี และได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองแก่เจ้าหญิงออสเตรีย
เมื่อออสการ์เข้ารับราชการทหาร อังเดรได้ติดตามออสการ์เข้ารับราชการทหารเช่นกัน ออสการ์มีหน้าที่ในการอารักขาและตามเสด็จพระนางมารี อองตัวเนต ยามพระนางเสด็จออก ณ สถานที่ต่าง ๆ ภายหลังจากพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสและพระนางมารี อองตัวเนต เสร็จสิ้น ฝรั่งเศสได้จัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับราชินีแห่งฝรั่งเศสอย่างยิ่งใหญ่ ออสการ์ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งองค์รักษ์ประจำพระองค์ของพระนางมารี อองตัวเนต แต่ด้วยพระชนมายุที่อ่อนวัย ภายหลังจากดำรงตำแหน่งราชินีแห่งฝรั่งเศสได้ไม่นาน พระนางมารี อองตัวเน็ต ก็พบเจอกับกฎระเบียบข้อบังคับที่เคร่งครัดของราชวงศ์ฝรั่งเศส ที่ทำให้พระนางทรงรู้สึกอึดอัดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
อังเดร กรังดิเออร์, ออสการ์ ฟรังซัวส์ เดอ จาร์เจ,เคานท์แฟร์ซอง ตัวละครหลักในภาคการ์ตูนมังงะและอะนิเมะ
ความอ่อนแอของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ทรงสนพระทัยทางด้านดนตรีและศิลปะมากกว่าพระนาง ทำให้พระนางทรงหาทางหลบหลีกกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของราชวงศ์ฝรั่งเศส ละทิ้งตำแหน่งราชินีด้วยการปลอมพระองค์ สวมหน้ากากปิดบังใบหน้า อำพรางพระองค์ เสด็จออกตามโรงละครต่าง ๆ เพื่อหาความสำราญ ทรงสนพระทัยงานเลี้ยงเต้นรำของเหล่าผู้ดี ที่จัดงานเต้นรำแทบทุกคืน ทุกครั้งที่พระนางมารี อองตัวเนต ปลอมพระองค์เป็นเลดี้ของท่านเคานท์แห่งออสเตเรีย ออสการ์จะทำหน้าที่นายทหารราชองค์รักษ์ติดตามไปด้วยทุกครั้ง
พระนางมารี อองตัวเนต ทรงสนุกสนานกับการปลอมพระองค์ ปิดบังฐานะที่แท้จริง ทรงเพลิดเพลินกับงานเลี้ยงและการเต้นรำของเหล่าผู้ดี จนกระทั่งในงานเลี้ยงต้อนรับท่านเคานท์แฟร์ซองแห่งสวีเดน พระนางมารี อองตัวเนต ตอบรับคำเชิญของเหล่าเลดี้ เสด็จมาร่วมงานเลี้ยงต้อนรับด้วยการปลอมพระองค์ สวมหน้ากากสีดำเสด็จพร้อมด้วยออสการ์เช่นเคย ระหว่างงานเลี้ยงเต้นรำ เคานท์แฟร์ซองได้พบกับพระนางมารี อองตัวเนต เป็นครั้งแรกและประทับใจในความงามของพระนาง ถึงกับเสียมารยาทด้วยการถอดหน้ากากที่ปิดบังใบหน้าของพระนางมารี อองตัวเนต ออก เพื่อยลโฉมใบหน้าที่แท้จริงภายใต้หน้ากาก
ออสการ์แสดงตัวเป็นชายในฐานะราชองค์รักษ์ เข้าขัดขวางเคานท์แฟร์ซอง พร้อมกับแสดงฐานะที่แท้จริงของพระนางมารี อองตัวเนต การพบกันครั้งแรกให้ทั้งสองต่างพึงพอใจซึ่งกันและกัน และแอบลักลอบพบกันหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้เกิดข่าวลือเรื่องชู้สาวของพระนางลือกระฉ่อนไปทั่วฝรั่งเศส ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติยศของพระนางมารี อองตัวเนต เสื่อมเสีย ราชวงศ์ฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากข่าวลือที่กระจายไปทั่ว ออสการ์ในฐานะนายทหารรักษาพระองค์และคนสนิทของพระนางมารี อองตัวเนต ได้แก้ไขสถานการณ์ด้วยการขอร้องให้เคานท์แฟร์ซอง เดินทางกลับสวีเดน
เคานท์แฟร์ซอง ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อยุติข่าวลือตามที่ออสการ์ขอร้อง และเข้าร่วมรบในสงครามปลดปล่อยอเมริกา พระนางมารี อองตัวเนต เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่คนรักของพระนางต้องจากไป จึงทรงเริ่มเปลี่ยนแปลงพระองค์ด้วยการสั่งซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับราคาแพง เสด็จออกงานเลี้ยงเต้นรำแทบทุกคืน เพื่อให้พระนางทรงลืมเคานท์แฟร์ซอง ชายผู้เป็นที่รัก แต่การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายของพระนางมารี อองตัวเนต ทำให้การเก็บภาษีอาการจากราษฎรต้องเพิ่มมากขึ้น ความยากจนแพร่กระจายไปทั่วฝรั่งเศส ราษฎรต่างเคียดแค้นพระนางมารี อองตัวเนต ที่เป็นทรงใช้จ่ายเงินทองเพื่อความต้องการของพระนาง
ออสการ์เติบโตในหน้าที่การงานจนได้เลื่อนขั้นเป็นนายพลกองทหารรักษาพระองค์ของฝรั่งเศส แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากอเลน นายทหารภายในกองทหารรักษาพระองค์ ทำให้เกิดเรื่องบาดหมางระหว่างอังเดรและอเลน จนออสการ์ต้องคอยห้ามปรามหลายครั้ง และยอมลาออกจากตำแหน่งนายพลกองทหารรักษาพระองค์ของฝรั่งเศส มาประจำการที่ค่ายทหารประจำกรุงปารีส แต่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในชีวิตออสการ์ เมื่อนายพลจาร์เจ ตัดสินใจให้ออสการ์หมั้นและแต่งงานกับเจโรเดล อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของออสการ์
แต่ออสการ์ไม่ยอมรับงานหมั้นและแต่งงานกับเจโรเดลเนื่องจากรักอังเดร ภายหลังเกิดเหตุจลาจลขึ้น ราษฎรต่างพากันประท้วงเหล่าขุนนางและพวกผู้ดีฝรั่งเศส ออสการ์และอังเดรถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ และได้รับการช่วยเหลือจาก เคานท์แฟร์ซอง ที่กลับมารับตำแหน่งพันเอกในกองทหารรักษาพระองค์ ภายในพระราชวังแวร์ซายส์เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้น เกิดคดีสร้อยพระศอเพชร ที่โบห์แมร์ เรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนปอนด์จากพระนางมารี อองตัวเนต เพื่อเป็นค่าสร้อยพระศอเพชร ที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของพระนางมารี อองตัวเนต ทำให้ราษฎรที่ได้รับความลำบากรวมตัวกันก่อเหตุปฏิวัติขึ้นอีกครั้ง
ออสการ์และอังเดรเข้าร่วมต่อสู้ในการปฏิวัติของราษฎรตามหน้าที่ แต่ทั้งสองถูกยิงเสียชีวิต พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารี อองตัวเนต และเจ้าชายโจเซฟ รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์ฝรั่งเศส ถูกจับและนำตัวไปคุมขังเพื่อรอการพิพากษา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกนำตัวไปประหารชีวิตก่อน สร้างความตึงเครียดและความหวาดกลัวแก่พระนางมารี อองตัวเนต ทำให้เส้นพระเกศาสีทองเปลี่ยนเป็นสีขาวโพลนเพียงชั่วข้ามคืน ก่อนทีพระนางจะถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยติน เพื่อชดใช้สำหรับประชาชนที่ต้องสูญเสียชีวิตและเงินทองเป็นค่าภาษีให้พระนางใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

Victor-Marie Hugo


Victor-Marie Hugo 
                     วิกตอร์-มารี อูโก (ฝรั่งเศสVictor-Marie Hugo; 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802 - 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1885) เป็นกวี นักเขียนบทละคร นักประพันธ์ ศิลปิน รัฐบุรุษ และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวฝรั่งเศส เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงสำหรับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยุคโรแมนติกในประเทศฝรั่งเศส
ชื่อเสียงของอูโกทางด้านงานวรรณกรรมในประเทศฝรั่งเศสมาจากงานกวีนิพนธ์และบทละคร ส่วนงานนวนิยายเป็นที่รู้จักรองลงมา ในบรรดางานกวีนิพนธ์ของเขา Les Contemplations และ La Légende des siècles จัดเป็นงานที่โดดเด่นและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บางครั้งอูโกได้รับกล่าวขวัญถึงในฐานะกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ส่วนชื่อเสียงภายนอกประเทศ เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานนวนิยาย เรื่อง Les Misérables(เหยื่ออธรรม) และ Notre-Dame de Paris (ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกว่า The Hunchback of Notre Dame หรือ คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม)
ประวัติ
วิกตอร์ อูโก เป็นบุตรคนที่สามและคนสุดท้องของโจเซฟ เลโอโปลด์ ซิกิสเบิร์ต อูโก (1773–1828) และนางโซฟี เทรบูเชต์ (1772-1821) เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1802  ที่เมืองเบอซองซง ในแคว้นฟร็องช์ กงเต พี่ชายของเขาสองคนคือ อาเบล โจเซฟ อูโก (1798–1855) และ ยูจีน อูโก (1800–1837) เขาใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดของเขาในประเทศฝรั่งเศส โดยจำเป็นต้องลี้ภัยออกไปนอกประเทศชั่วเวลาหนึ่งระหว่างรัชสมัยของพระเจ้านโปเลียนที่สาม โดยไปอาศัยอยู่ในบรัสเซลราว ค.ศ. 1851 ในเจอร์ซีย์ระหว่างปี 1852-1855 และในเจอร์นซีย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1855-1870 กับอีกครั้งหนึ่งในปี 1872-1873 ซึ่งเขาเลือกจะลี้ภัยเองแม้มีการนิรโทษกรรมแล้วในปี ค.ศ. 1859
ในช่วงวัยเยาว์ของอูโกมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ในคริสต์ศตวรรษก่อนหน้าที่เขาจะเกิด ราชวงศ์บูร์บงถูกโค่นลงในการปฏิวัติฝรั่งเศส ตามมาด้วยการรุ่งเรืองและล่มสลายของสาธารณรัฐแห่งแรก การรุ่งเรืองของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่ง การรวบอำนาจเผด็จการของนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหลังจากอูโกเกิดได้สองปี ราชวงศ์บูร์บงได้รับการสถาปนากลับมาอีกครั้งก่อนที่อูโกจะมีอายุครบ 18 ปี แนวคิดทางการเมืองและทางศาสนาที่ตรงข้ามกันของพ่อและแม่สะท้อนถึงแรงผลักดันในการสงครามในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของเขา พ่อของอูโกเป็นนายทหารระดับสูงในกองทัพของนโปเลียน ซึ่งไม่นับถือพระเป็นเจ้าแต่ยกย่องนโปเลียนเป็นวีรบุรุษ ส่วนแม่ของเขาเป็นชาวคาทอลิกผู้เคร่งครัดและจงรักภักดีต่อราชวงศ์ ครอบครัวของอูโกต้องย้ายบ้านบ่อยๆ ตามการรับตำแหน่งของบิดา ทำให้อูโกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายระหว่างการเดินทาง ครั้งหนึ่งเมื่อครอบครัวของเขาเดินทางไปยังเนเปิลส์ อูโกได้เห็นช่องเขาแอลป์ขนาดใหญ่กับยอดสูงอันปกคลุมด้วยหิมะ เขาได้เห็นทะเลเมดิเตอเรเนียนสีน้ำเงินสด และได้เห็นงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ในกรุงโรม แม้เวลานั้นเขาจะมีอายุเพียง 6 ปี แต่ก็สามารถจำการเดินทางครึ่งปีนั้นได้อย่างแม่นยำ พวกเขาอยู่ในเนเปิลส์หลายเดือนก่อนจะย้ายกลับมายังปารีส
โซฟีต้องติดตามสามีไปยังอิตาลี (เลโอโปลด์ได้เป็นข้าหลวงปกครองแคว้นแห่งหนึ่งใกล้เนเปิลส์) และสเปน (เขาได้เข้าควบคุมดูแลจังหวัดในสเปน 3 จังหวัด) เมื่อนางรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการโยกย้ายแบบชีวิตทหาร ประกอบกับความไม่พอใจกับความเชื่อทางศาสนาของสามี โซฟีจึงแยกอยู่กับเลโอโปลด์ชั่วคราวเมื่อ ค.ศ. 1803 โดยพำนักอยู่ในปารีส นางได้อุปการะเลี้ยงดูอูโกให้เติบโตขึ้นและรับการศึกษาจากที่นี่ ผลจากสิ่งนี้ทำให้งานกวีนิพนธ์และนิยายของอูโกในยุคแรกๆ สะท้อนถึงความรู้สึกภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และความศรัทธา จนกระทั่งในช่วงหลัง เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1848 อูโกจึงเริ่มมีความคิดต่อต้านการศึกษาที่ภักดีต่อราชวงศ์และคาทอลิก หันไปยกย่องแนวคิดสาธารณรัฐนิยมและเสรีนิยม

การสร้างผลงานสำคัญ


ภาพประกอบ คนค่อมแห่งนอทเทอร์ดามฉบับดั้งเดิม วาดโดย Alfred Barbou (ค.ศ. 1831)
ผลงานนิยายชิ้นสำคัญชิ้นแรกของอูโกเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1929 สะท้อนถึงแนวคิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่แทรกอยู่ในงานช่วงหลังๆ ของเขาแทบทั้งหมด Le Dernier jour d'un condamné ("วันสุดท้ายของนักโทษประหาร") เป็นงานที่ส่งอิทธิพลต่อนักเขียนยุคต่อมาหลายคน เช่น อัลเบิร์ต คามุส ชาร์ลส์ ดิกเก้นส์และ ฟิวดอร์ โดสตอฟสกี งานเขียนเรื่อง Claude Gueux ในปี ค.ศ. 1834 เป็นเรื่องสั้นเชิงพรรณนาเกี่ยวกับชีวิตจริงของฆาตกรคนหนึ่งที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาอูโกยอมรับว่าเป็นงานนำร่องไปสู่ผลงานอันยิ่งใหญ่ของเขาเกี่ยวกับความอยุติธรรมในสังคม เรื่อง Les Misérables ("เหยื่ออธรรม") แต่งานเขียนนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรกของอูโกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงคือ Notre-Dame de Paris ("คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม") ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1831 และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว ผลกระทบหนึ่งจากนวนิยายเรื่องนี้คือมหาชนหลั่งไหลกันไปเยือนมหาวิหารโนเตรอดามหลังจากอ่านนวนิยาย ทำให้นครปารีสต้องละอายที่ทอดทิ้งมหาวิหารมิได้ฟื้นฟูบูรณะมาเป็นเวลานาน หนังสือเล่มนี้ยังส่งผลให้มีการปรับปรุงอาคารใหม่ให้เป็นแบบยุคก่อนเรเนสซองส์ และต่อมาก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
อูโกเริ่มวางแผนการเขียนนวนิยายเรื่องเอกของเขา คือ เหยื่ออธรรม ให้มีเนื้อหาสะท้อนความทุกข์ยากและความอยุติธรรมในสังคมตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1830 และใช้เวลายาวนานกว่า 17 ปีเพื่อเขียนขึ้นมาจนสำเร็จและได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1862 ความพิถีพิถันในคุณภาพของนวนิยายทำให้หนังสือเป็นที่ต้องการและมีการประมูลแย่งชิงกันมาก สำนักพิมพ์ในเบลเยียมแห่งหนึ่งคือ Lacroix and Verboeckhoven ถึงกับจัดแคมเปญพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการออกหนังสือข่าวเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้เป็นเวลา 6 เดือนเต็มก่อนกำหนดวางแผง ทั้งยังมีการตีพิมพ์เพียงแค่ครึ่งแรกของนิยาย ("Fantine") ออกวางจำหน่ายในเมืองใหญ่พร้อมๆ กัน หนังสือที่พิมพ์แต่ละคราวจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมฝรั่งเศส มีการวิพากษ์วิจารณ์นิยายเรื่องนี้อย่างรุนแรง เช่น Taine กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เสแสร้งไม่จริงใจ Barbey d'Aurevilly วิจารณ์ว่าใช้ภาษาหยาบคายสามหาว พี่น้อง Goncourts เปรียบว่าเป็นของเทียม และ Baudelaire ผู้เขียนแนะนำนิยายเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ก็ยังวิจารณ์ว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่ามัน "ไร้รสนิยมและไม่ได้เรื่อง" ถึงกระนั้น เหยื่ออธรรม ก็พิสูจน์ความนิยมในตัวเองได้ด้วยปริมาณการขายอย่างมากมายและยังกลายเป็นวาระสำคัญในการประชุม French National Assembly ในเวลาต่อมา นิยายเรื่องนี้ยังคงเป็นที่นิยมตราบจนถึงปัจจุบัน และได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีอย่างบ่อยครั้งยิ่งกว่านวนิยายเรื่องอื่นในแนวนี้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อยนิด[4]

ภาพวาดประกอบ เหยื่ออธรรม ฉบับดั้งเดิม วาดโดย Émile Bayard (ค.ศ. 1862)
การติดต่อโต้ตอบระหว่างอูโกกับสำนักพิมพ์ของเขา Hurst & Blackett เมื่อ ค.ศ. 1862 จัดเป็นการโต้ตอบที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าในเวลาที่ เหยื่ออธรรม (ซึ่งเป็นหนังสือหนากว่า 1200 หน้า) วางแผงนั้น อูโกอยู่ระหว่างเดินทางพักผ่อน เขาส่งโทรเลขไปถึงสำนักพิมพ์ว่า "?" ซึ่งสำนักพิมพ์ส่งตอบมาว่า "!"
นวนิยายเรื่องต่อมาของอูโก คือ Les Travailleurs de la Mer (ผู้ตรากตรำแห่งท้องทะเล) ซึ่งเขาหันเหแนวทางไปจากแนวสังคม-การเมือง นิยายตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1866 และได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่งอาจเป็นผลจากความสำเร็จอย่างสูงของ เหยื่ออธรรม ก็ได้ อูโกเขียนเรื่องนี้เพื่ออุทิศแด่เกาะแห่งเจอร์นซีย์ซึ่งเขาได้ไปลี้ภัยอยู่นานถึง 15 ปี เขาพรรณนาถึงสงครามระหว่างชายคนหนึ่งกับทะเลและสิ่งมีชีวิตอันน่าสะพรึงกลัวจากมหาสมุทรห้วงลึก คือ ปลาหมึก ซึ่งทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ปลาหมึกไปทั่วนครปารีส นับแต่อาหาร งานนิทรรศการ ไปจนถึงหมวกปลาหมึกและงานสังสรรค์ คำที่ชาวเจอร์นซีย์ใช้เรียกปลาหมึก (pieuvre; ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงปลาหมึกยักษ์) ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาฝรั่งเศสอันเป็นผลจากคำที่ใช้ในนิยายเรื่องนี้ อูโกหวนกลับมาเขียนงานเกี่ยวกับการเมืองและสังคมอีกครั้งในนวนิยายเรื่องถัดไปคือ L'Homme Qui Rit (คนที่หัวเราะ) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1869 และได้สร้างภาพอันล่อแหลมเกี่ยวกับคนชั้นสูงในสังคม แต่นิยายเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเทียบกับเรื่องก่อนๆ อูโกเริ่มพิจารณาตัวเองว่าห่างชั้นกับนักเขียนร่วมสมัยคนอื่นๆ เช่น Flaubert และ Zola ซึ่งมีงานเขียนที่กำลังเป็นที่นิยม นวนิยายเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Quatrevingt-treize (เก้าสิบสาม) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1874 เขาเขียนเรื่องที่ก่อนหน้านี้เคยหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด คือยุคสมัยแห่งความหวาดหวั่นระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส แม้ว่าในเวลาที่ตีพิมพ์นั้นชื่อเสียงของอูโกเริ่มลดน้อยลงแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยอมรับกันว่า เก้าสิบสาม เป็นหนึ่งในผลงานของอูโกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด


 


Catacombs of Paris


สุสานใต้ดินสุดสะพรึง!!ที่ Catacombs of Paris
สำหรับคนที่กำลังมอง หาสถานที่ท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ น่าท้าทาย และไม่เหมือนใครในโลก แน่นอนว่าสถานที่ที่เรียกว่า สุสานใต้ดิน อย่าง Catacombs of Paris หรือ l'Ossuaire Municipal ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโลกแห่งคนตายนั้น จะสร้างความตื่นเต้นให้คุณได้เท่าไหร่กันนะ



 

     คาตาคอมส์ ออฟ ปารีส เป็นสุสานใต้ดินที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากของกรุงปารีส โดยสุสานใต้ดินแห่งนี้ เป็นสุสานที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บศพไว้ใต้ดิน



 

     โดยในอดีตนั้นประชากรในกรุงปารีสได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และกรุงปารีสเองก็ไม่มีสุสานไว้เก็บกระดูกของคนตาย ด้วยเสียงเรียกร้องของประชาชน จึงได้มีการจัดสร้างสุสานใต้ดินนี้ขึ้นมานั่นเอง





 

     ภายในสุสานคุณจะพบกับกำแพง กระดูก และกะโหลก ที่มีมากมายก่ายกอง

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

พี่น้องตระกูลกริมม์


พี่น้องตระกูลกริมม์


วิลเฮล์ม กริมม์ (ซ้าย) และยาค็อบ กริมม์ (ขวา) ภาพวาดโดย เอลิซาเบธ เจริโช-โบแมน ค.ศ. 1855
พี่น้องตระกูลกริมม์ (อังกฤษThe Brothers GrimmเยอรมันDie Gebrüder Grimm) หรือ ยาค็อบ กริมม์ (ค.ศ. 1785-1863) และวิลเฮล์ม กริมม์ (ค.ศ. 1786-1859) นักวิชาการชาวเยอรมันซึ่งเป็นที่รู้จักโด่งดังจากผลงานการรวบรวมนิทานพื้นบ้านและเทพนิยาย รวมถึงผลงานเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา (กฎของกริมม์ หรือ Grimm's Law) นับว่าเป็นนักเล่านิทานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคู่หนึ่งในยุโรป ซึ่งทำให้เทพนิยายมากมายแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น รัมเพลสทิลสกินสโนไวท์ราพันเซลซินเดอเรลล่า และ แฮนเซลกับเกรเธล
ประวัติ
เจค็อบ ลุดวิจ กริมม์ และ วิลเฮล์ม คาร์ล กริมม์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1785 และ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1786 ตามลำดับ ที่เมืองฮาเนา ใกล้กับเมืองแฟรงค์เฟิร์ต แคว้นเฮสเซน พวกเขามีพี่น้องทั้งหมด 9 คน แต่มีชีวิตรอดเติบโตมาเพียง 6 คน ชีวิตในวัยเด็กของพวกเขาอยู่ในแถบชนบทอันงดงามร่มรื่น ครอบครัวกริมม์พำนักอยู่ใกล้คฤหาสน์ของเจ้าผู้ครองแคว้นระหว่างช่วงปี 1790-1796 เนื่องจากบิดาของพวกเขาเป็นลูกจ้างของเจ้าชายแห่งเฮสเซน
เมื่อเจค็อบซึ่งเป็นบุตรคนโตอายุได้ 11 ปี บิดาของพวกเขาคือ ฟิลิป วิลเฮล์ม ก็ถึงแก่กรรม ครอบครัวจึงต้องย้ายไปอาศัยในบ้านเล็กๆ คับแคบในตัวเมือง สองปีต่อมา ปู่ของพวกเขาก็เสียชีวิต จึงคงเหลือแต่แม่เพียงคนเดียวที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูเด็กๆ ยังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่พี่น้องกริมม์มักยกผู้เป็นบิดาไว้ไม่ให้มีความผิด ขณะที่ทรราชฝ่ายหญิงมักมีบทบาทสำคัญในนิทาน เช่นแม่เลี้ยงใจร้ายและพี่สาวทั้งสองในเรื่อง ซินเดอเรลล่า แต่ผู้วิจารณ์คงจะลืมไปว่าพี่น้องกริมม์เป็นแต่เพียงผู้รวบรวมเทพนิยายเท่านั้น ไม่ใช่คนแต่งขึ้นมา
พี่น้องกริมม์ได้รับการศึกษาจาก Friedrichs-Gymnasium ใน Kassel และต่อมาได้เรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยมาร์เบิร์ก และที่นี่ ด้วยแรงบันดาลใจจาก ฟรีดดริค ฟอน ซาวินี (Friedrich von Savigny) ทำให้พี่น้องทั้งสองเริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ทั้งคู่เพิ่งมีอายุยี่สิบต้นๆ ในขณะที่เริ่มศึกษาด้านภาษาศาสตร์ และวางกฎของกริมม์ รวมถึงรวบรวมเรื่องราวเทพนิยายและเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านจากที่ต่างๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอย่างมาก อันที่จริงผลงานรวบรวมนิทานปรัมปราเหล่านี้เป็นผลพลอยได้จากการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของคนทั้งสอง
ปี ค.ศ. 1808 มีบันทึกว่าเจค็อบได้เป็นบรรณารักษ์ในราชสำนักของกษัตริย์แห่ง Westphalia ปี ค.ศ. 1812 พี่น้องกริมม์ได้ตีพิมพ์ผลงานรวบรวมเทพนิยายของพวกเขาเป็นครั้งแรก ชื่อว่า Tales of Children and the Home ซึ่งพวกเขารวบรวมเรื่องราวมาจากชาวบ้านชนบท เรื่องบางส่วนก็ขัดแย้งกับที่มาของเรื่องอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในวัฒนธรรมอื่นและภาษาอื่น (เช่นงานของ ชาร์ลส์ แปร์โรลต์) พี่น้องกริมม์แบ่งงานกันทำ เจค็อบเน้นที่งานวิจัย ส่วนวิลเฮล์มทำหน้าที่ปะติดปะต่อเรื่องราว นำมาประพันธ์ใหม่ในรูปแบบวรรณกรรมและเขียนบรรยายในลักษณะของนิทานเด็ก พี่น้องทั้งสองยังให้ความสนใจกับนิทานพื้นบ้านและประวัติศาสตร์กำเนิดของวรรณกรรม ปี ค.ศ. 1816 เจค็อบได้เป็นบรรณารักษ์ใน Kassel ส่วนวิลเฮล์มก็ได้งานที่นั่นเช่นกัน ระหว่าง ค.ศ. 1816 - 1818 ทั้งสองได้ตีพิมพ์ตำนานเยอรมันสองชุด และประวัติวรรณกรรมยุคต้นอีกหนึ่งชุด
ขณะที่พี่น้องกริมม์เริ่มสนใจในภาษาเก่าแก่และความสัมพันธ์ของภาษาเหล่านั้นกับภาษาเยอรมัน เจค็อบเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์และโครงสร้างของภาษาเยอรมันอย่างละเอียด ในเวลาต่อมา พวกเขาได้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างคำต่างๆ และเรียกชื่อว่าเป็น กฎของกริมม์ โดยได้รวบรวมข้อมูลดิบไว้เป็นจำนวนมาก ปี ค.ศ. 1830 ทั้งสองได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งใน Göttingen หลังจากมีหน้าที่การงานมั่นคงในเมืองนั้น เจค็อบได้เป็นศาสตราจารย์ และเป็นหัวหน้าบรรณารักษ์ในปี ค.ศ. 1830 ส่วนวิลเฮล์มได้เป็นศาสตราจารย์ในปี ค.ศ. 1835
ปี ค.ศ. 1837 พี่น้องกริมม์ร่วมกับศาสตราจารย์ที่เป็นเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัย Göttingen อีก 5 คน ร่วมกันคัดค้านการเพิกถอนรัฐธรรมนูญแห่งรัฐฮันโนเวอร์ของกษัตริย์ เออร์เนสต์ ออกัสตัส ที่หนึ่ง กลุ่มผู้คัดค้านนี้เป็นที่รู้จักต่อมาในชื่อ Die Göttinger Sieben (The Göttingen Seven) ทั้งหมดถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย และมี 3 คนที่ถูกเนรเทศ รวมถึงเจค็อบด้วย เจค็อบหนีไปอาศัยอยู่ใน Kassel ซึ่งอยู่นอกอาณาเขตของกษัตริย์เออร์เนสต์ วิลเฮล์มติดตามไปสมทบภายหลัง โดยพำนักอยู่กับลุดวิจ น้องชายของพวกเขา ในปีต่อมาทั้งสองได้รับเชิญจากษัตริย์แห่งปรัสเซีย เชิญให้ไปพำนักอยู่ในเบอร์ลิน และทั้งสองก็ได้ย้ายไปยังเบอร์ลินนับแต่นั้น
ช่วงปลายชีวิตของพวกเขาอุทิศให้กับการจัดทำพจนานุกรมภาษาเยอรมัน ตีพิมพ์ชุดแรกออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1854 และเป็นต้นแบบในการพัฒนาปรับปรุงเวอร์ชันต่างๆ ต่อมา เจค็อบครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตของเขา ส่วนวิลเฮล์มได้แต่งงานกับ เฮนเรียตเต โดโรเธีย ไวลด์ (Henriette Dorothea Wild หรือบางแห่งเรียกว่า Dortchen) เมื่อปี 1825 เธอเป็นบุตรีของเภสัชกรซึ่งเป็นเพื่อนกับครอบครัวกริมม์มาตั้งแต่เด็ก ที่ซึ่งพี่น้องกริมม์ได้ฟังนิทานเรื่อง หนูน้อยหมวกแดงเป็นครั้งแรก วิลเฮล์มมีบุตร 4 คนโดยเสียชีวิตตั้งแต่เด็กไป 1 คน แต่พี่น้องทั้งสองก็ยังสนิทกันมากแม้หลังจากที่วิลเฮล์มแต่งงานแล้วก็ตาม
วิลเฮล์มเสียชีวิตในกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1859 เจค็อบยังคงทำงานรวบรวมพจนานุกรมและโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิตในเบอร์ลินเช่นกัน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1863 ร่างของทั้งสองฝังไว้ที่สุสาน St. Matthäus Kirchhof ใน Schöneberg ในเบอร์ลิน พี่น้องตระกูลกริมม์ได้เผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยให้แพร่หลายกว้างขวางในเยอรมนี และได้รับความเคารพยกย่องเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเยอรมนี ซึ่งต่อมาราชอาณาจักรปรัสเซียได้ก่อการปฏิวัติในช่วงปี 1848-1849 และเริ่มต้นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น