สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด
สถานการณ์น้ำท่วมทั่วไทย
สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด อัพเดตทั่วไทย
ภาพสถานการณ์น้ำท่วมทั่วไทยในปัจจุบัน สีฟ้าคือพื้นที่น้ำท่วมจากข้อมูลดาวเทียม
มูลนิธิธรรมกายช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ตัวแทนมูลนิธิธรรมกายมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
น้ำตีวงล้อมหลายพื้นที่ กทม.
สถานการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ใกล้จุดที่เรียกได้ว่าคนกรุงเทพมหานครต้องมีความพร้อมในการรับมือน้ำท่วม เพราะในวันนี้น้ำเริ่มตีวงล้อมเข้าในหลายพื้นที่ของกรุงเทพแล้ว
โดยกรุงเทพมหานครประเมินว่าน้ำทุ่งที่ค้างอยู่ตามทุ่งนาและที่ราบลุ่มนอกแม่น้ำลำคลองเริ่มเดินทางถึงคลอง 6 วาสายล่าง ทำให้ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำคลอง 2 เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ขณะนี้คลอง 2 และคลองหกวา น้ำกำลังจะล้นตลิ่ง โดยวันนี้ระดับน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นห่วงมวลน้ำเหนือก้อนใหญ่ระลอกที่ 2 จะเข้าถึงกรุงเทพมหานคร อาจทำให้หลายพื้นที่เข้าสู่สภาวะวิกฤตในคืนนี้ ประชาชนในพื้นที่ชุมชนเสี่ยง 13 เขต สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในและนอกคันกั้นน้ำ ให้เตรียมตัวเคลื่อนย้ายเข้าศูนย์พักพิงที่ และอาจต้องแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมในคืนนี้
ล่าสุดสถานการณ์น้ำเข้าประชิดในหลายจุดทั้งเหนือ ทางตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร รวมถึงสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งย่านเจริญกรุง สี่พระยาใกล้ใจกลางของกรุงเทพมหานคร โดยน้ำจากถนนวิภาวดีได้ขยายวงกว้างเข้าท่วมสนามบินดอนเมืองและใกล้ถึงสี่แยกหลักสี่แล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 24 ชั่วโมงมวลน้ำจะไหลเข้าเขตบางเขน และถึงแยกเกษตรในปลายสัปดาห์นี้
หลายคนในย่านนี้ต่างมีความกังวลกับสถานการณ์จึงนำรถไปจอดไว้บนสะพานข้ามวงเวียนหลักสี่ในช่องทางที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ บนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ในช่องทางที่ปิดการจราจร และส่วนหนึ่งย้ายออกจากลานจอดรถของท่าอากาศยานดอนเมือง
ขณะที่มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่มั่นใจต่อสถานการณ์น้ำท่วม ใช้โอกาสในช่วงที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 27-31 ตุลาคมเป็นวันหยุด ทยอยเดินทางออกต่างจังหวัดบางคนกลับไปภูมิลำเนาซึ่งไม่ถูกน้ำท่วม เพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้บรรยากาศที่สถานีขนส่งหมอชิตมีประชาชนจำนวนมากมารอซื้อตั๋วโดยสารจนเนืองแน่น ซึ่งทาง บขส. ยืนยันว่าจะเพิ่มเที่ยวรถให้เพียงพอกับประชาชนที่ต้องการเดินทาง
เมืองเอก น้ำท่วม 1 เมตร
เมืองเอก น้ำท่วม 1 เมตร
เมืองเอกน้ำท่วมหนักสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านย้ายครอบครัวมาปักหลักอาศัยอยู่บนสะพานลอย
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก (ถนนพหลโยธิน ซอย 87) ระดับน้ำที่ทะลักจากประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้เอ่อล้นเข้าท่วมบนถนนสูงประมาณ 1 เมตร โดยทิศทางของน้ำไหลมุ่งหน้าเข้าไปยังสนามบินดอนเมืองอย่างต่อเนื่องบนถนน วิภาวดีขาเข้า
ทั้งนี้มีประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านเมืองเอกต้องเดินเท้าฝ่ากระแสน้ำอพยพ ออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นถึง 1 –1.50 เมตร ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้แจ้งเตือนไว้ก่อนหน้านี้
นางสะอาด พูลสวัสดิ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในซอยคาเซย์ ปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก เปิดเผยว่า ตอนนี้ต้องย้ายครอบครัวมาอาศัยอยู่บนสะพานลอยหน้าทางเข้าเมืองเอก ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา และครอบครัวมีด้วยกัน 4 คน ซึ่งบนสะพานนี้จะมี 5-6 ครอบครัวขึ้นมาอาศัยอยู่ด้วย ส่วนของใช้ส่วนตัวก็นำออกมาจากบ้านไปบางส่วนเท่านั้น เช่น เสื้อผ้า และข้าวสารอาหารแห้ง
สถานการณ์น้ำท่่วมที่เมืองเอก
สถานการณ์น้ำท่วมถนนพหลโยธิน 25/10/54
สถานการณ์น้ำท่วมริมถนนพหลโยธิน เช้าวันนี้พบว่า ระดับน้ำที่ท่วมผิวถนนสูงขึ้นกว่าเมื่อวานและขยายวงกว้างมาขึ้นจนล่าสุดน้ำที่เอ่อล้นมาจากท่อระบายน้ำได้เข้าท่วมผิวทางช่องทางซ้าย บริเวณด้านหน้าบิ๊กซีสะพานใหม่แล้ว
สภาพการจราจรบนแนวถนนพหลโยธิน ณ เวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของวันทำงาน โดยบริเวณจุดนี้ ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหามากที่สุดอีกจุดหนึ่งบนถนนพหลโยธิน เรื่อยมาจากแยกลำลูกกา จะเห็นได้ว่า สภาพการจราจรติดขัดทั้งขาเข้าและขาออก เนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมผิวทางสูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ราว 10 เซนติเมตร ไปอยู่ที่ 30 เซนติเมตรเหนือระดับผิวถนน
บางจุดโดยเฉพาะช่องทางซ้าย รถเล็กไม่สามารถวิ่งได้ ทำให้ต้องเบียดวิ่งในช่องทางขวาได้เพียงช่องทางเดียว ทำให้การจราจรบริเวณนี้ติดขัด ขณะที่ริมถนนช่องทางซ้ายของถนนพหลโยธินทั้ง 2 ฝั่ง ขณะนี้พบว่า น้ำจากท่อระบายน้ำที่มีการสูบออกจากซอยย่อย และสูบออกจากท่อระบายน้ำได้ไหลเข้าท่วมถนนขยายวงกว้างมาจนถึงด้านหน้าของบิ๊กซีสะพานใหม่ ระดับความสูงราว 5-10 เซนติเมตร การจราจรยังสามารถใช้การได้
ส่วนเช้านี้คนที่จะเดินทางไปทำงานอาจต้องลำบากนิดหน่อย เพราะว่าการใช้รถโดยสารสาธารณะอย่างเช่น รถเมล์และรถตู้ต้องมีการเปลี่ยนเส้นทางหลังจากที่เกิดน้ำท่วมผิวทางในหลายจุด บางคนต้องเดินลุยน้ำออกจากบ้านเพื่อมารอขึ้นรถเดินทางไปทำงาน
ขณะเดียวกันาพคลอง 6 วาล่าง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็พบว่าเช้าวันนี้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ชาวบ้านที่นี่ต้องอยู่อย่างยากลำบาก อย่างพี่อธิวัชร สุขศุเสียง ชาวบ้านริมคลอง 6 วา ที่ต้องอยู่ในบ้านที่มีน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร ซึ่งเค้าก็ประเมินว่า สถานการณ์น้ำในคลองมีโอกาสจะปรับระดับขึ้นสูงไปได้อีกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร
การระบายน้ำในคลอง 6 วาตอนนี้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะในคลองยังมีสิ่งปฏิกูลและผักตบชวาอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำระบายไปยังคลองอื่นๆ ได้ไม่ดีนัก
ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังนายชัยนรินทร์ พันธ์ภิญญาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 11 บอกว่า สถานการณ์น้ำในคลอง 6 วา ยังไม่อยู่ในระดับที่สูงสุดโดยมีโอกาสปรับระดับสูงขึ้นอีกในช่วง 1-2 วันนี้ จากมวลน้ำในคลองรังสิตที่ไหลมาเติมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ช่วงนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และหากพ้นช่วง 2 วันนี้ไป ระดับน้ำในคลองมีแนวโน้มจะทรงตัวและค่อย ๆ ลดลงจากการผันน้ำไปทางนครนายก ซึ่งทางกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำกว่า 14 เครื่องในการสูบน้ำลงแม่น้ำบางปะกง ซึ่งคาดว่าจะช่วยระบายน้ำลงทะเลได้วันละประมาณ 42 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
จรัญสนิทวงศ์ น้ำท่วม อ่วมหนัก ! 25/10/54
ระดับน้ำที่ทะลักมาจากจุดที่พนังกั้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาพัง ยังคงทะลักมายังถนนจรัญสนิทวงศ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ชาวบ้านซอยจรัญสนิทวงศ์ 80 ออกมาสังเกตระดับน้ำตั้งแต่ช่วงเช้ามืดด้วยความกังวล บางคนบอกว่านอนไม่หลับทั้งคืน เพราะเฝ้าดูระดับน้ำ โดยพบว่า ตั้งแต่ช่วงตี 3 น้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว และไหลแรงมากขึ้น จึงคาดว่าจุดที่พนังขาดน่าจะขยายวงกว้างมากขึ้น ขณะที่เราพยายามนำรถโตโยต้าโฟร์วิลล์ ลุยเข้าไปยังจุดที่พนังขาด พบว่า ด้านในน้ำไหลเชี่ยวและลึกลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเราต้องถอยออกมาเพราะรถไม่สามารถเข้าไปได้ ตลอดทั้งซอยเราพบชาวบ้านในซอยจรัญสนิทวงศ์ 80 ส่วนหนึ่งอพยพออกไปแล้ว แต่ว่ายังมีอยู่อีกจำนวนมากที่ยังไม่ยอมย้ายออกไป เพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน ซึ่งผู้ที่อยู่ก็มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุ
มวลน้ำจำนวนมหาศาลกำลังไหลทะลักขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว และข้ามมายังอีกฟากหนึ่งของถนนจรัญสนิทวงศ์ ระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ซอยวัดสามัคคีสุทราวาส ซอยจรัญสนิทวงศ์ 85 แขวงบางอ้อ น้ำสูงมากกว่า 50 เซนติเมตรแล้ว เช้าวันนี้พระต้องเดินลุยน้ำออกมาบิณฑบาตร นอกจากนั้นเรายังพบครอบครัวของน้องพลอยใส เด็กหญิงวัยเพียงขวบเศษ อพยพข้าวของออกมา โดยบอกว่า บ้านเกิดที่พิจิตรก็ถูกน้ำท่วม ขณะที่บ้านที่มาซื้อไว้ที่คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ก็ถูกน้ำท่วม คุณแม่ได้พาน้องพลอยใสหนีมาอยู่กับญาติที่นี่ เมื่อวานเพิ่งมาถึงได้แค่ 2 ชั่วโมง น้ำก็ทะลักเข้ามาท่วมจนไม่สามารถออกไปได้ เช้านี้จึงมายืนรอขอความช่วยเหลือ เพราะสอบถามไปยังครอบครัวที่จังหวัดพิจิตรบอกว่า น้ำที่นั่นลดแล้ว จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด โดยบอกว่า ชีวิตนี้ต้องหนีน้ำถึง 3 ครั้ง แต่ก็ต้องตั้งรับอย่างมีสติ
เช่นเดียวกับครอบครัวชาวนิวซีแลนด์ ครอบครัวนี้ที่ตัดสินใจกลับประเทศในวันนี้ เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ แต่เมื่อวานน้ำมาเร็วมาก กว่าจะเก็บข้าวของได้ก็ไม่สามารถออกได้แล้ว เราจึงได้นำรถโตโยต้าโฟร์วิลล์ของเราออกไปส่งยังจุดที่สามารถต่อรถได้
ตอนนี้จุดใหญ่ที่มีรอยขาดของพนังกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 2 จุด และยังไม่สามารถซ่อมได้ เราได้สอบถามไปยังด็อกเตอร์เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยด็อกเตอร์เสรี ประเมินสถานการณ์ว่า หากไม่สามารถซ่อมพนังกั้นน้ำจุดที่ขาดได้ กรุงเทพจะมีลักษณะที่ไม่ต่างจากเทศบาลนครนครสวรรค์ ที่น้ำจะทะลักเข้าท่วมเต็มพื้นที่ จนกว่าระดับน้ำในกรุงเทพจะเท่ากับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ความสูงเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงมากกว่าความกังวลเรื่องน้ำจะตลบหลังเข้ามาด้านทิศตะวันตกตอนล่างของกรุงเทพมหานคร
ตอนนี้มวลน้ำที่ทะลักจากพนังทั้ง 2 จุด ท่วมตั้งแต่จรัญสนิทวงศ์ 74 ไปจนถึงจรัญสนิทวงศ์ 84 รถเล็กไม่สามารถผ่านจุดนี้ได้แล้ว นอกจากนี้น้ำที่ทะลักส่วนหนึ่งก็ไหลลงคลอง ไม่ว่าจะเป็นคลองบางกอกน้อย คลองบางพระครู ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเราได้รับรายงานว่า พนังกั้นน้ำคลองบางกอกน้อย ได้ทะลักเข้าท่วมถนนอรุณอัมรินทร์ช่องซ้าย ยาวไปจนถึงถนนฝั่งตรงข้ามพาต้าปิ่นเกล้าแล้ว
หมู่บ้านเมืองทองธานี 1 ยังมีน้ำท่วมสูง 25/10/54
น.ส.ระเบียบ กูบกระบี่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ ในเขตหลักสี่ ในเช้าวันนี้ว่า ตลอดคืนที่ผ่านมา ยังไม่มีพื้นที่ในความรับผิดชอบเกิดวิกฤติแต่อย่างใด ส่วนระดับน้ำจากคลองประปาที่เอ่อเข้าท่วมหมู่บ้านเมืองทองธานี 1 ซอยแจ้งวัฒนะ 14 นั้น ขณะนี้มีระดับขึ้นลงตามระดับน้ำในคลองประปา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการเร่งสูบน้ำลงคลองเปรมประชากรอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สำหรับเขตหลักสี่นั้น ได้มีการวางแผนอพยพประชาชนในพื้นที่เอาไว้แล้ว ขณะนี้มีศูนย์พักพิงแล้วอยู่ทั้งหมด 12 แห่ง มีประชาชนเข้าพักพิงแล้ว 8 แห่ง ซึ่งมีจำนวนประชาชนกว่า 1,500 คน แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเขตก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออกับสถานการณ์ และมีการประเมินกันอย่างใกล้ชิด โดยได้มีการลงพื้นที่ทุกวัน
มธ.รังสิต เปิด 3 ทางเลือก ให้ผู้ประสบภัยอพยพ 24/10/54
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แจ้งมี 3 ทางเลือกย้ายผู้ประสบภัย ทั้งที่มวกเหล็ก ค่ายอดิสร หรือแยกย้ายกันกลับบ้าน หลังสนามราชมังคลาไม่พร้อมรองรับผู้อพยพ
วันนี้ (24 ตุลาคม) รศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พักพิง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเตรียมอพยพประชาชนในพื้นที่ หลังจากความพยายามในการต้านน้ำที่ทะลักเข้าท่วมมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมาไม่ได้ โดยได้มีการประสานงานไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการขออพยพย้ายประชาชนทั้งหมดในศูนย์ กว่า 3 พันคน ไปยังสนามราชมังคลากีฬาสถาน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมได้ข้อสรุปว่า จะไม่ย้ายผู้อพยพไปยังสนามราชมังคลากีฬาสถาน เนื่องจาก นายกนกพรรณ จุลเกษม ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย แจ้งว่าสนามราชมังคลากีฬาสถาน รองรับผู้อพยพได้เพียง 800 คน และอินดอร์สเตเดี้ยมก็ยังปิดซ่อม อาจไม่สะดวกต่อการใช้เป็นศูนย์พักพิง ดังนั้น จะมีการแบ่งผู้อพยพออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. อพยพไปที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ประมาณ 1,500 คน 2. ค่ายอดิสร จำนวน 2,000 คน และส่วนที่ 3 คือผู้อพยพที่สมัครใจเดินทางกลับบ้าน โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเอง
ธรรมศาสตร์อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ส่วนรถที่จะมีการขนย้ายประชาชนนั้น ทาง มธ.ได้ประสานกับ ขสมก. เตรียมรถไว้แล้ว 200 คน ในการเคลื่อนย้ายประชาชนทั้งหมด ขณะที่บุคคลากรของธรรมศาสตร์ นั้นจะย้ายไปยังสถานที่ของมหาวิทยาลัยที่พัทยาต่อไป
สำหรับแนวทางในการกู้พื้นที่คืนนั้น ดร.กำพล กล่าวว่า จะมีการหารือกับเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยต่าง ๆ ที่พยายามช่วยต้านน้ำอยู่อีกครั้ง หลังจากอพยพประชาชนไปทั้งหมดแล้ว
ฉะเชิงเทรา-โคราชติดหนัก เหตุคนกรุงฯ แห่หนีน้ำท่วม 24/10/54
ประชาชนในกรุงเทพฯ หนีภัยน้ำท่วมต่างจังหวัดจำนวนมาก จนทำให้ถนนฉะเชิงเทรา - นครราชสีมา รถติดหนัก ด้านตำรวจแนะว่า ควรเลี่ยงไปใช้เส้นสระแก้ว - บุรีรัมย์จะดีกว่า
จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้อาศัยในกรุงเทพฯ รวมถึงผู้ที่มีภูมิลำเนาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานที่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ หนีออกมาพักพิงยังต่างจังหวัด ขณะที่ถนนหลายสายถูกระงับการเดินทาง เนื่องจากถูกน้ำท่วมขัง เช่น ถนนสายเอเชีย พหลโยธิน ทำให้ประชาชนที่จะเดินทางไปยังภาคอีสานหันมาใช้ถนนสายฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การจราจรเมื่อวันที่่ 22 ตุลาคม ติดขัด ตั้งแต่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จนถึง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังขอนแดง อ.นาดี จึงออกมาแนะนำให้ประชาชนที่หนีภัยน้ำท่วมใช้เส้นทาง จ.สระแก้ว ออกไปยัง จ.บุรีรัมย์ น่าจะคล่องตัวกว่า
พลิกวิกฤต! อยุธยาเปิดตลาดนัดพื้นที่น้ำท่วม 24/10/54
นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการ จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้สั่งการให้นำหินคลุกมาปรับพื้นที่บริเวณหน้าศูนย์พักพิงชั่วคราว ตลาดรุ่งเจริญ และหน้าศูนย์ราชการจังหวัด เพื่อเปิดตลาดนัดชั่วคราว ให้ประชาชนนำสินค้ามาจำหน่าย โดยเน้นประเภทของสด และของยังชีพ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนหน้านี้น้ำท่วมขัง จนถึงขณะนี้ระดับน้ำไม่เพิ่ม ส่วนตัวมองว่า หากปรับพื้นที่เป็นตลาดนัดขายสินค้า จะทำให้ประชาชนมีรายได้ ทั้งนี้จะเปิดให้บริการ วันที่ 26 ตุลาคม
ผู้ว่าราชการ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จังหวัดซ่อมแซมถนนสายเอเชียเชื่อมถนนพหลโยธิน เขตติดต่อ จ.อ่างทอง ถนนสายในไปยัง อ.นครหลวง ท่าเรือ และภาชี ขอเชิญชวนพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัดเข้ามาจำหน่ายสินค้า โดยติดต่อได้ที่สำนักงานพาณิชย์ จ.พระนครศรีอยุธยา และสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.พระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3533-6550 และ 0-3533-6525
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่น้ำท่วม ถ่ายเมื่อ 23 ตุลาคม 2554
สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด ที่จังหวัดนนทบุรี 23/10/54
ที่อำเภอบางใหญ่ วันนี้ยังต้องอพยพต่อ โดยเฉพาะที่ตำบลบางแม่นาง ที่เช้าวันนี้ระดับน้ำได้ทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ขณะที่การอพยพยังคงต้องการเรือเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก
ชาวชุมชนบัวทอง ต้องประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องขยายเสียงให้เพื่อนบ้านอพยพ หลังจากได้รับแจ้งว่าระดับน้ำวันนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 20 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้น้ำและไฟถูกตัด เพราะเมื่อวานนี้ได้เกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย โดยชุมชนบัวทองเป็นเขตติดต่อระหว่างตำบลบางรักพัฒนา และตำบลเสาธงหิน ซึ่งเป็น 2 ใน 4 ตำบลที่ทางจังหวัดสั่งให้มีการอพยพ จุดนี้มีประชากรหนาแน่นกว่า 8,000 ครัวเรือน ตอนนี้ระดับน้ำบางจุดสูงเกือบ 2 เมตรแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังคงมีบางส่วนที่ยังคงเป็นห่วงทรัพย์สินไม่ยอมย้ายออกไป เพราะช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีมิจฉาชีพนำเรือเข้ามายกเค๊าต์บ้านของชาวบ้านไปแล้วกว่าหลายหลัง โดยที่อาศัยช่วงชุลมุนและชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นการย้ายของตามปกติ ขณะที่เช้าวันนี้ที่หนีไปและไม่ได้เก็บทรัพย์สินก็กลับมาดูบ้านและเก็บข้าวของแต่พบว่า ไม่มีเรือเลย บางคนต้องเดินลอยคอเข้าไปด้านใน บางคนต้องยอมจ่ายค่าเรือจ้าง ขณะที่เราพบว่า มีพ่อค้านำเรือมาขายโก่งราคา โดยเป็นเรือพลาสติกนั่งได้แค่ 2 คน ราคาตกที่ 7,000-8,000 บาท ชาวบ้านจึงร้องขอเรือในการเข้าไปช่วยเหลือ ช่วงที่เราเข้าไปสำรวจด้านใน เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กติ๊ง แจ้งว่า ยังคงมีผู้สูงอายุและเด็กติดอยู่ตามบ้าน และต้องการออกไปด้านนอก แต่ยังไม่มีเรือ
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร นายอำเภอบางใหญ่ บอกว่า ขณะนี้ท่วมเต็มพื้นที่ทุกตำบลของบางใหญ่ ที่วิกฤติหนักสุดที่ตำบลบางแม่นาง ตำบลเสาธงหิน น้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ส่วนตำบลบ้านใหม่และตำบลบางเลนน้ำเริ่มเอ่อท่วมแล้วแต่ไม่มาก ทำให้วันนี้ทางเจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพคนเพิ่ม โดยเฉพาะที่หมู่บ้านตะวันงาม ตำบลบางใหญ่ กว่าพันครอบครัวที่เพิ่งเข้าท่วมเมื่อคืนนี้ ได้อพยพไปอยู่โรงเรียนบางคูรัด นายอำเภอบางใหญ่ ย้ำว่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน พื้นที่อันตรายที่น้ำท่วมสูงอยากขอให้ชาวบ้านอพยพออก และล่าสุดขณะนี้มวลน้ำที่อำเภอบางใหญ่ในตำบลบางม่วงได้ไหลเข้าคลองมหาสวัสดิ์น้ำปริ่มคลองเข้าพื้นที่เขตตลิ่งชันของกรุงเทพมหานครที่โรงงานผลิตน้ำดื่ม
ส่วนที่อำเภอบางบัวทองการช่วยเหลือผู้อพยพทำได้เกือบหมดแล้วมีเพียงผู้สมัครใจอยู่บ้านเพราะห่วงทรัพย์สิน อย่างที่หมู่บ้านบุศรินทร์ ชาวบ้านยืนยันกับทีมข่าวว่า 2 คืนที่ผ่านมามีโจรอาศัยจังหวัดเจ้าของบ้านไม่อยู่เข้าไปขโมยพระเครื่องโดยมาทางเรือและข้ามรั้ว ปืนเข้าทางช่องหลังคาบ้าน แม้หมู่บ้านหลายแห่งจะมีเวรยามเฝ้าแต่ก็ดูแลไม่ทั่วถึง ขณะที่ตำรวจก็เพียงตระเวณตรวจในเส้นทางหลักไม่ได้เข้าภายในหมู่บ้าน
สถานการณ์น้ำท่วมนนทบุรี
หลังจากที่ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนาเพื่อผันน้ำออกจากคลองมหาสวัสดิ์ ให้ลดลง เพราะน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำจากคลองทวีวัฒนาเพิ่มสูงขึ้น เหลืออีกเพียง 50 เซนติเมตร น้ำก็จะล้นคันกั้นแล้ว กองทัพเรือต้องเร่งระดมกำลังนำกระสอบทรายมาเสริมคันกั้นน้ำเพิ่มอีก 3 ชั้น เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน และถนนบรมราชชนนี ขณะที่ถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ระดับน้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมถนนทุกเลนจนหมดแล้ว ทำให้รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ และระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ดังกล่าวต้องอพยพนำรถยนต์ส่วนตัวขึ้นมาจอดบนสะพานกลับรถและพื้นที่สูง
น้ำท่วมถนนวิภาวดีฯ หน้าสนามบินดอนเมือง 23/10/54
สถานการณ์น้ำท่วม ที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองว่า ช่วงเช้าวันนี้ (23ต.ค.) ได้เริ่มมีน้ำเอ่อขึ้นมาบนถนนสายวิภาวดี-รังสิต โดยฝั่งขาออกมีระดับน้ำสูงขึ้นมาประมาณ 15-30 เซนติเมตร ส่วนขาเข้ามีน้ำสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ทำให้การสัญจรเป็นไปอย่างทุลักทุเล โดยเฉพาะรถเล็ก ซึ่งผู้ขับขี่ต้องชลอความเร็วเพื่อหลบน้ำที่ขังอยู่จึงเคลื่อนที่ไปได้อย่างช้าๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า น้ำที่เอ่อขึ้นมาบนพื้นผิวถนนเกิดจากน้ำที่หนุนขึ้นมาจากท่อระบายน้ำ
น้ำท่วมนนท์ จระเข้โผล่หน้าร้านสเต็ก 23/10/54
ระทึก น้ำท่วมลาม จระเข้ยาว 2 เมตร โผล่หน้าร้านสเต็ก ถ.กาญจนาภิเษกขาออก อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ก่อนถึงแยกไทรน้อยประมาณ 500 ม. ประสานกรมประมงเร่งจับ
ขณะที่ มีรายงานเพิ่มเติมจากศูนย์วิทยุกู้ภัย เมื่อเวลาประมาณ 05.40 น.ว่ารับแจ้งจากชาวบ้านใน จ.ปทุมธานี ว่าพบจระเข้อีก 3 ตัว บริเวณหน้าดรีมเวิลด์ คลอง3 ซึ่งตัวที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดราว3เมตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 05.10 น.วันที่ 23 ต.ค. นายเตมพงษ์ แซตั้ง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง แจ้งพบจระเข้ความยาวประมาณเกือบ 2 เมตร ขึ้นมานอนอยู่บนลานหน้าร้านสหรัฐสเต็ก อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ช่วง ถ.กาญจนาภิเษก ขาออก ก่อนถึงแยกบางกรวย - ไทรน้อย ประมาณ 500 ม. โดยระหว่างตระเวนในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอยู่นั้น ได้พบจระเข้ตัว 1 ตัว ความยาวประมาณ 2 เมตร เดินขึ้น-ลง บริเวณลานหน้าร้านที่มีน้ำท่วมอยู่หลายรอบ ซึ่งตนเองและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครอีกหลายนาย รายล้อมบริเวณดังกล่าวไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีประชาชนเข้าไปใกล้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ประสานไปยังกรมประมงเพื่อให้มาช่วยจับตัวจระเข้แล้ว
ขณะที่ มีรายงานเพิ่มเติมจากศูนย์วิทยุกู้ภัย เมื่อเวลาประมาณ 05.40 น.ว่ารับแจ้งจากชาวบ้านใน จ.ปทุมธานี ว่าพบจระเข้อีก 3 ตัว บริเวณหน้าดรีมเวิลด์ คลอง3 ซึ่งตัวที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดราว3เมตร
แม่น้ำท่าจีนล้น เข้าท่วมสุพรรณ 23/10/54
บุญชู จันทร์สุวรรณ นายกฯ อบจ.สุพรรณบุรี เผยแม่น้ำท่าจีนขณะนี้ได้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนสองฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุดของจังหวัด บางแห่งท่วมขังมาแล้วกว่า 2 เดือนรังสิต น้ำท่วมอ่วมแล้ว 80% ของพื้นที่ 23/10/54
ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต เผยขณะนี้น้ำท่วมกว่า 80 % ของพื้นที่แล้ว และบางแห่งระดับน้ำสูงมาก การเข้าช่วยเหลือทำได้ไม่ทั่วถึงและทุกพื้นที่ รถเล็กสัญจรไม่ได้ ต้องใช้เรืออย่างเดียวน้ำท่วมภาคกลางเริ่มคลี่คลาย 23/10/54
สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางส่งสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสามารถสูบน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมออกมาได้มากขึ้น
จังหวัดนครสวรรค์ นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ บอกว่า จากการระดมเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 700 เครื่อง รวมทั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ของชลประทานอีก 20 เครื่อง เข้าพื้นที่เขตเทศบาลเมือง ก็ทำให้สามารถสูบน้ำได้มาก จนระดับน้ำลดลงวันละ 30 เซนติเมตร และคาดว่าจะสามารถสูบน้ำออกทั้งหมดได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้
ส่วนที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ตำบลปากน้ำโพธิ์ อำเภอเมือง นครสวรรค์ ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าไปทำความสะอาดจุดน้ำท่วมบริเวณชั้น 1 ของโรงพยาบาลแล้ว แม้ว่าระดับน้ำจะลดลงไปมาก แต่ก็ทิ้งร่องรอยความเสียหายในหลายจุด รวมทั้งมีขยะตกค้างจากน้ำท่วมเป็นจำนวนมากด้วย
นอกจากนี้ทางจังหวัดนครสวรรค์ ยังได้ร่วมกับกรมประมง จัดเรือฟรีบริการผู้ประสบภัย โดยมีจุดจอดให้บริการ 6 จุดด้วยกันคือ บริเวณหน้าอุทยานสวรรค์ หน้าถาวรฟาร์ม หน้าโรงเรียนอนุชนวัฒนา หน้าโรงเรียนเทศบาลนครสวรรค์ 4 หน้าตรอกชุนหงษ์ และหน้าโรงพยาบาลร่มฉัตร รวมเรือให้บริการทั้งสิ้น 120 ลำ
ส่วนที่จังหวัดสิงห์บุรี ทางชลประทานกำลังเร่งปิดช่องทางน้ำ คันคลองชัยนาท-อยุธยาฝั่งขวา ในพื้นที่ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี ขณะนี้เหลือเพียงอีก 2 ช่อง และอีกแห่งอยู่บริเวณตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน ก็จะสามารถปิดได้ทั้งหมด เพื่อชะลอความแรงของน้ำ
น้ำท่วมที่ลพบุรีเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่จังหวัดลพบุรี สถานการณ์น้ำท่วมส่งสัญญาณดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำทรงตัวในหลายจุด ก็ทำให้ระดับน้ำท่วมในอำเภอเมืองเริ่มลดลง 1-2 เซนติเมตร เช่นเดียวกับที่อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอท่าวุ้ง ระดับน้ำทรงตัวในวันที่ 2 และบางจุดยังคงประสบปัญหาน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น
ส่วนกองขยะของเทศบาล ริมคลองชลประทาน ตำบลทะเลชุบศรี อำเภอเมืองลพบุรี แม้ว่าทางจังหวัดจะสามารถล้อมกองขยะไม่ให้ลอยออกมาสรางปัญหา แต่ก็พบว่า สภาพน้ำบริเวณดังกล่าวมีคุณภาพน้ำที่ต่ำ ทางนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้เลี่ยงการเดินลุยน้ำ เพราะเกรงอาจจะมีเชื้อโรค และให้เจ้าหน้าที่ตรวจกองขยะทุกวัน เพื่อความปลอดภัย
น้ำท่วมนครสวรรค์ลดลงอย่างต่อเนื่อง 23/10/54
ที่นครสวรรค์ สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย โดยน้ำในแม่น้ำน่านลดลง 3 ซม. แม่น้ำปิงลดลง 9 ซม. แม่น้ำเจ้าพระยาลดลง 2 ซม. ในส่วนของพื้นที่เขตเทศบาลนครนครสวรรค์และตลาดปากน้ำโพ ทางเทศบาลนครฯเร่งระดมสูบน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง ระดับน้ำลดลง 30-80 ซม.สำหรับศูนย์ราชการ น้ำลดลงมาก ตั้งแต่ 50 ซม.- 1 เมตร การจราจรเริ่มสะดวกขึ้น ถนนสวรรค์วิถีสามารถใช้สัญจรไป-มาได้ ส่วนถนนพหลโยธิน ช่วงตั้งแต่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 6 ถึงสี่แยกเดชาติวงศ์ สามารถสัญจรได้เส้นทางเดียวและให้รถวิ่งสวนทาง บางช่วงการจราจรยังติดขัด ส่วนถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลก ใช้สัญจรได้ถึงบ้านดอนดู่ ช่วงต่อจากนั้นน้ำยังท่วมสูง
ส่วนตามศูนย์อพยพต่างๆประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับไปล้างบ้านเรือนและขนของกลับบ้านบ้างแล้ว โดยทหารนำรถทหารช่วยขนสิ่งของกลับไปส่งบ้านพร้อมทั้งจังหวัดได้จัดชุดยังชีพให้ ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ให้ครอบครัวละ 1 ชุดเพื่อนำไปยังชีพที่บ้านในระยะแรก ส่วนเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พร้อมเงินแจกช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามศูนย์อพยพต่างๆแล้ว
นวนครท่วมเต็มพื้นที่ 100% 18/10/54
7.00 น.บริเวณด้านหน้าทางเข้าเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ช่วงค่ำที่ผ่านมา ระดับน้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่นวนครเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จนขณะนี้น้ำที่เอ่อท่วมได้ล้นมาถึงถนนสายหลัก อีกเพียงไม่ถึง 500 เมตรก็จะเข้าสู่ถนนพหลโยธิน
ซึ่งจากการสอบถามทหารที่ประจำอยู่ที่นี่ทราบว่า น้ำที่ไหลเข้าท่วมเพิ่มสูงขึ้นอย่าวรวดเร็ว โดยภายในพื้นที่โรงงานน้ำขยับสูงขึ้นเฉลี่ยนาทีละ 1 เซนติเมตร ทำให้ขณะนี้ในบางโรงงานโดยเฉพาะจุดที่คันกั้นน้ำแตก เมื่อวานนี้ ใกล้ ๆ บ่อบำบัดน้ำเสีย น้ำสูงขึ้นกว่า 2 เมตรแล้ว ส่วนน้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมถนนสายหลักของนิคมวัดระดับได้สูงสุดที่ 1 เมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ตั้งแต่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน บริษัท นวนคร เป็นต้นไป
สำหรับน้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ขณะนี้เรียกได้ว่าท่วมครบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบของแต่ละโรงงานที่จะได้รับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการป้องกัน และพบว่า ตลอดทั้งคืนยังคงมีประชาชนเก็บข้าวของ และอพยพออกจากชุมชน และโรงงานที่นี่อย่างต่อเนื่อง บางรายต้องเดินเท้าลุยน้ำออกมาไกลหลายกิโลเมตร ขณะที่บางรายเมื่ออพยพมาแล้วไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ก็จำเป็นต้องมาอาศัยศาลาด้านหน้าเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร เป็นที่พักพิง ก่อนที่จะหาทางดำเนินชีวิตต่อไปหลังจากนี้
ในขณะที่แรงงานในนวนครหลายคนยอมรับว่า รู้สึกหวั่นใจกับการกินอยู่หลังจากนี้ เพราะนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานต่าง ๆ หลายร้อยแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต่างได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ และยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะกลับมาเปิดการผลิตได้อีกเมื่อใด ซึ่งในระหว่างนี้หลายคนตัดสินใจจะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อไปตั้งหลักและเตรียมมองหางานใหม่ เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว
เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังมีทั้งพนักงานโรงงาน และชาวบ้านติดอยู่ในพื้นที่อีกจำนวนมาก และรออพยพออกจากพื้นที่ให้ได้ภายในวันนี้
สำหรับเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร มีพื้นที่ราว 6,500 ไร่ มีโรงงานภายในกว่า 227 โรง มีแรงงานกว่า 170,000 คน รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนนวนคร อีกเกือบ 200,000 คน ซึ่งการที่น้ำท่วมใหญ่ครั้งนื้ถือได้ว่าจะสร้างความเสียหายเฉพาะเครื่องจักรกลการผลิตมากกว่าแสนล้านบาท และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 300,000 คน
ขณะที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อคืนนี้ได้ประกาศปิดรับผู้ประสบภัยเพิ่มเติม แต่ปรากฎว่าเช้านี้มียอดผู้ประสบภัยเหลือเพียง 3,764 คน จึงสามารถรับเพิ่มได้อีก 256 คน เนื่องจากในช่วงเช้ามีบางส่วนได้ทยอยกลับ และมีญาติมารับกลับ เจ้าหน้าที่บอกว่า หลังเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมถูกน้ำทะลักเข้าท่วมเมื่อวานนี้ ทำให้มีแรงงานอพยพเข้ามาขอความช่วยเหลือราว 200 กว่าคน และหลังจากการระดมคนช่วยกันวางกระสอบทราย ทำให้ตอนนี้น้ำยังไม่เข้าไปในมหาวิทยาลัย มีเพียงน้ำท่วมด้านข้างมหาวิทยาลัย ฝั่งถนนเชียงราก
ลพบุรีหนาวซ้ำหลังเจอน้ำท่วม 18/10/54
ชาวลพบุรีที่ยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต้องเผชิญสภาพอากาศที่เริ่มหนาวเย็น สร้างความลำบากเพิ่มอีก
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี วันนี้ (18 ต.ค.) ยังอยู่ในขั้นวิกฤต น้ำไม่มีทีท่าลดลง มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน หลายหมู่บ้านไม่สามารถอยู่ในบ้านได้แล้ว เพราะน้ำขึ้นสูงจนต้องออกมาอาศัยตามริมถนนที่ไม่ถูกน้ำท่วม แต่ก็ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เริ่มเย็นและลมแรง สร้างความลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกน้ำท่วมไม่สามารถขนผ้าห่ม และ เสื้อหนาวออกมาได้ ทำให้ต้องทนกับสภาพอากาศที่เริ่มหนาวเย็น การเดินทางด้วยเรือก็ต้องเจอกับลูกคลื่นแรงจนเรือพายและเรือเครื่องวิ่งเข้าออกลำบากเป็นอย่างมาก เพราะอาจเกิดอันตรายได้
ชาวบ้านหลายหมู่บ้านวอนขอผ้าห่ม และ เสื้อกันหนาว หลังอุตุฯประกาศว่าสภาพอากาศจะเริ่มหนาวเย็นมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่นี้ไป
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเร่งอพยพชาวบ้านที่กางเต๊นท์อยู่บนถนนที่น้ำท่วมถึงโดยเฉาพะบนถนนสายลพบุรี-สิงห์บุรี ช่วงตำบลบางขันหมากและตำบลพรหมมาสตร์ ออกมาอยู่ในที่เต๊นท์ที่ทางจังหวัดจัดไว้ให้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงมากในจงหวัดลพบุรี
สภานการณ์น้ำท่วมที่ลพบุรี
สภานการณ์น้ำท่วมที่ลพบุรี
นอกจากนี้นายฉัตรชัยได้มอบให้ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษเร่งนำแพเหล็กลอย แพอเนกประสงค์มอบให้ชาวบ้านในอำเภอท่าวุ้ง 10 หลัง ซึ่งได้นำไปมอบให้กับชาวบ้านในตำบลบางลี่และตำบลโคกสลุด เนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่นี้ถูกน้ำท่วมสูงทั้งหมู่บ้านจนไม่มีพื้นดินเลย และชาวบ้านบางส่วนยังไม่ยอมอพยพออกมาอยู่ข้างนอกเพราะเป็นห่วงทรัพย์สินที่จมน้ำอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการขอร้องแล้วก็ตาม ทางจังหวัดจึงได้นำแพอเนกประสงค์ไปส่งให้ชาวบ้านไว้ใช้และอพยพมาอยู่แพแทนอยู่ในบ้านเพื่อความสะดวกและสามารถหลบฝนหลบแดดได้ และยังใช้เก็บของได้ด้วย
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรียังได้เยี่ยมชาวบ้านชุมชนทะเลชุบศรจำนวน 100 ครอบครัวที่อพยพหนีน้ำท่วมขึ้นมาอาศัยอยู่ที่อาคารอเนกประสงค์ของโรงเรียนวัดตองปุ เพื่อสอบถามว่าต้องการสิ่งใดเพิ่มเติม ชาวบ้านได้ร้องขอเต๊นท์นอนเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นมีเต๊นท์ก็ยังสามารถกันลมได้ ซึ่งผู้ว่าฯรับปากว่าวันนี้จะนำเต๊นท์มาให้ 100 หลัง และจะส่งเจ้าหน้าที่มากางให้ ก่อนกลับได้มีการมอบถุงยังชีพพร้อมไฟฉายให้กับทุกครอบครัวๆละ 1 กระบอกเ ก็บไว้ใช้ในช่วงเวลากลางคืนด้วย
CNNชมคนไทยทั้งประเทศร่วมใจช่วยน้ำท่วม 17/10/54
สำนักข่าว CNN รายงานคนไทยทั่วประเทศในทุกภาคส่วนต่างร่วมใจกันช่วยน้ำท่วม แม้แต่ผู้ที่เดือดร้อนยังช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยกัน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สื่อชั้นนำของโลก รายงานข่าวว่า ความช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศที่ช่วยกันบริจาคอาหาร น้ำดื่มและเสื้อผ้าไปยังพื้นที่ประสบภัย ไทยเกิดน้ำท่วมแทบทุกปีแต่ปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี มีผู้เสียชีวิตแล้ว 283 คน ยอดบริจาคปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยมีกองทัพและองค์กรต่าง ๆ เข้าไปแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึง คนที่มีเรืออาสาลำเลียงสิ่งของหรือช่วยเพื่อนบ้าน ส่วนคนที่ไม่มีเรือใช้ยางในรถยนต์หรือแม้แต่แผ่นโฟมพยุงตัวเพื่อเข้าไปช่วย เป็นการทำงานร่วมกันในชุมชนอย่างแท้จริง ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในพื้นที่ยากเข้าถึงเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า สถานการณ์เลวร้ายมาก คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ริมถนนกำลังขาดแคลนอาหาร ขณะที่วัดหลายแห่งแม้ถูกน้ำท่วมเช่นกันแต่ก็ยังพอมีพื้นที่ว่างให้ผู้ประสบภัยเข้าไปพักพิง
ขณะเดียวกันหลายประเทศเริ่มให้ความช่วยเหลือแล้ว เช่น จีนบริจาค 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 45 ล้านบาทสหรัฐ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30 ล้านบาท และส่งเฮลิคอปเตอร์ 26 ลำมาช่วยบรรเทาทุกข์ ส่วนหน่วยงานของสหประชาชาติได้ส่งคณะเข้ามาประเมินและวางแผนช่วยเหลือแล้วทั้งในไทย กัมพูชาและเวียดนาม
CNN ชมคนไทยทั้งประเทศร่วมใจช่วยน้ำท่วม
CNN ชมคนไทยทั้งประเทศร่วมใจช่วยน้ำท่วม
นครสวรรค์น้ำลด 5 ซม. ถนนพหลโยธินสัญจรได้ 17/10/54
ระดับน้ำที่ท่วมขังในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เริ่มลดลงแล้ว 5 เซนติเมตร หลังสามารถซ่อมและเสริมคันกั้นน้ำได้สำเร็จ คาดภายใน 1 สัปดาห์ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านถนนพหลโยธินเปิดให้สัญจรไปมาได้...
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำที่ท่วมขังในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้เริ่มลดลงแล้วประมาณ 5 เซนติเมตร หลังจากที่สามารถซ่อมและเสริมคันกั้นน้ำได้สำเร็จ ขณะที่การกู้ถนนพหลโยธิน ก็สามารถให้รถสัญจรไปมาแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาได้ระดมกำลังและเครื่องจักรเข้าไปขนอุปกรณ์ไปวางกั้นทางน้ำได้เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ น้ำที่ท่วมขังในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ จะลดลงอยู่ในภาวะปกติ
น้ำท่วมวังน้อย อ่วม ! ท่วมทุกพื้นที่ บางจุดสูง 4 เมตร
อ.วังน้อย อ่วมหนัก น้ำไหลเข้าท่วมทั่วพื้นที่ บางจุดสูงกว่า 4 เมตร ขณะที่ ศูนย์
ช่วงเที่ยงของวันนี้ (16 ตุลาคม) พ.ต.จำลอง จิตสมพงษ์ นายทหารกิจการพลเรือน ศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศที่ 1 ประจำพื้นที่ภาคกลางกองทัพบก กล่าวว่า ขณะนี้น้ำได้ทะลักผ่านคันล้อมที่สูง 2 เมตร เข้าท่วมพื้นที่ของ ศูนย์ต่อสู้ป้องกันภัยทางอากาศที่ 1 ที่ตั้งอยู่ ต.วังน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา บนเนื้อที่กว่า 1 พันไร่แล้ว
โดยทางเจ้าหน้าที่ต้องอพยพชาวบ้านจำนวน 600 คน ขึ้นไปอยู่ชั้น 2 ของอาคารที่สามารถพอจะอาศัยได้ ซึ่งจากการสำรวจนั้น พบว่า ยังพอมีพื้นที่อาคารที่ยังไม่ท่วมขึ้นยัง 2 และสามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000 คน ซึ่งทางด้านกองทัพบกได้จัดเตรียมอาหาร และแพทย์ มารองรับการช่วยเหลือแล้ว
สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่ อ.วังน้อยนั้น ล่าสุดพบว่า ระดับน้ำสูงกว่า 2 - 3 เมตรแล้ว และมีบางจุดที่ท่วมสูงถึง 4 เมตร โดยน้ำได้ไหลเข้าชุมชน บ้านเรือน และพื้นที่ไร่นาของประชาชน จมน้ำเสียหาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระแสน้ำได้ไหลข้ามถนนพหลโยธินตลอดเส้นทางที่ผ่าน อ.วังน้อย ยาวกว่า 15 กิโลเมตร ทั้งการเดินทางขาเข้า และขาออกกรุงเทพฯ
สถานการณ์น้ำท่วทบริวเณบางส่วนของอ.วังน้อยล่าสุด
ศรีสะเกษ อ่วม น้ำท่วมสูงมิดหลังคา 17/10/54
อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ น้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้านแล้ว ชาวบ้านขนทรัพย์สินบรรทุกใส่เรือหนีน้ำโกลาหล ที่บริเวณกลางทุ่งนา บ้านโคกสะอาด ต.ดูน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำมูลประมาณ 1 ก.ม. ปรากฏว่า น้ำจากแม่น้ำมูลได้เอ่อล้นไหลทะลักเข้าไปท่วมไร่นา บ้านเรือนของประชาชน ซึ่งระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และน้ำได้ท่วมบ้านเรือนประชาชน จำนวน 4 หลัง ระดับน้ำสูงถึงหลังคาบ้าน ทำให้ต้องพากันนำเอาทรัพย์สินของมีค่าบรรทุกบนเรือ และพากันขนของหนีน้ำไปอยู่ริมถนนสาย อ.กันทรารมย์ - อ.ยางชุมน้อย ก.ม.ที่ 5 ต.ดูน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ พร้อมทั้งนำเอารถบรรทุกหกล้อ มาบรรทุกข้าวของเครื่องใช้เพื่อไปอาศัยบ้านญาติ ซึ่งอยู่ในที่สูง เป็นการชั่วคราว และปล่อยให้น้ำท่วมบ้านเรือน
น้ำท่วมรังสิตคลอง 1 น้ำเริ่มเอ่อเข้าท่วมผิวถนน
คืนวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554 21:18 น.
บริเวณรังสิต คลอง 1 มีน้ำท่วมเอ่อเข้าท่วมผิวถนน ส่งผลการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ติดขัดเล็กน้อย
บริเวณรังสิต คลอง 1 มีน้ำท่วมเอ่อเข้าท่วมผิวถนน ส่งผลการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ติดขัดเล็กน้อย
สถานการณ์น้ำท่วมเขตพื้นที่รังสิต บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ล่าสุดยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แม้ระดับน้ำจะสูงขึ้น โดยบริเวณรอยต่อคลองรังสิต คลอง 1 บริเวณใต้สะพานกลับรถ ถนนวิภาวดีรังสิต มีน้ำท่วมผิวถนนเล็กน้อย ความสูงประมาณ 20 ซ.ม. แต่ว่าสภาพการจราจรโดยทั่วไปปกติ มีติดขัดเพียงเล็กน้อย ขณะที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต สถานการณ์ยังคงปกติมีน้ำท่วมขังเพียงแต่ในซอยเท่านั้น ไม่มีน้ำท่วมบนพื้นผิวจราจร สำหรับถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า ช่วงดอนเมืองหน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือ ศปภ.ดอนเมือง การจราจรติดขัดเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณรถ ที่ออกมาจาก ศปภ. มีจำนวนมาก รวมทั้งยังมีฝนตก ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังดูแลอำนวยความสะดวก
สถานการณ์น้ำท่วมแปดริ้ว
น้ำท่วมแปดริ้ว แม่น้ำบางปะกง ทะลักเข้าเขตเทศบาลเมือง และไหลเข้าท่วมบ้าน ผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา แล้ว ขณะที่ริมแม่น้ำมีระดับน้ำสูงเกือบครึ่งเมตร
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำบางปะกง ในบริเวณพื้นที่เขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา มีน้ำเอ่อไหลทะลักออกมาจากลำน้ำบางปะกง อีกอย่างต่อเนื่อง และมีระดับสูงมากกว่าเมื่อวานนี้ ซึ่งได้เอ่อล้นออกจากลำน้ำ และไหลผุดออกขึ้นมาตามปากท่อระบายน้ำอีกเป็นวันที่สอง ท่วมบนถนนมรุพงษ์ สูงจากเมื่อวานอีก 10 ซ.ม. จากเดิมวานนี้โดยระดับน้ำขึ้นชื้นแฉะบนผิวการจราจรที่ระดับ 10 ซ.ม. เป็น 20 ซ.ม. นอกจากนี้ ยังได้เอ่อไหลเข้าไปท่วมยังบริเวณพื้นที่บ้านพักของ นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา อีกด้วย โดยมีระดับน้ำสูงถึง ประมาณ 20 - 30 ซ.ม.ล้นเข้ามาจนเกือบถึงบริเวณป้อมปราการของเจ้าหน้าที่ อส. หน้าปากประตูทางเข้า ขณะที่ชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำ ล้วนถูกน้ำจากแม่น้ำบางปะกง เอ่อไหลเข้าไปท่วมภายในบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะบริเวณชุมชนหน้าเมืองที่มีน้ำขังในตัวบ้านสูงถึงกว่า 40 - 50 ซ.ม. จนต้องเดินลุยน้ำออกมาอยู่ยังภายนอกชุมชน
สถานการณ์น้ำท่วมทั่วไทย รายงานทุกสถานการณ์น้ำท่วม
สถานการณ์น้ำท่วมที่ร้อยเอ็ด
องค์กรท้องถิ่น ตัวแทนชาวนาร้อยเอ็ด ที่ถูกน้ำท่วม รวมเกือบ 1 หมื่นไร่ รวมตัวเปิดประตูระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นายสุเทพ จันทะภูมิ กำนันตำบลบึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด พร้อม นายสมควร ดิษดำ กำนันตำบลเทอดไทย ได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านดอนโมง หมู่ 9 จำนวน 58 ครัวเรือน บ้านโนนยาง หมู่ 12 บ้านโนนราษี หมู่ 8 บ้านมะแว หมู่ 7 รวมพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ที่ถูกน้ำท่วม เพื่อขอกำลังในการเปิดประตูระบายน้ำเป็นระบบมือหมุนจะต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก มีทั้งหมด 4 บาน เพื่อเปิดให้ไหลลงสู่ห้วยยางเฌอ และไหลลงลำน้ำชีต่อไป หมู่บ้านดังกล่าวอยู่นอกพนังกั้นน้ำ ถูกน้ำท่วมตัดขาดนาข้าวกว่าหมื่นกว่าไร่ ต้องขึ้นมาอาศัยบนพนังกั้นน้ำเป็นน้ำธรรมชาติคือ น้ำจากน้ำฝนจากห้วยนางเดียว ห้วยน้ำเค็ม ห้วยท่าจอก ห้วยแล้ง ห้วยกุดแคน อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า อ.เมืองร้อยเอ็ด อ่างเก็บน้ำ ไหลผ่านหมู่บ้านนานกว่า 1 เดือนแล้ว ขณะนี้ระดับน้ำฝั่งลำน้ำห้วยยางเฌอ ซึ่งต่ำกว่าในหมู่บ้าน 2 ซ.ม.จึงได้เร่งเปิดทันที
สถานการณ์น้ำท่วมนครสวรรค์
เจ้าหน้าที่โยธาจังหวัด สร้างสะพานไม้ เชื่อมระหว่างศูนย์ราชการนครสวรรค์ กับ ถนนสวรรค์วีถี เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้สัญจรชั่วคราว
การก่อสร้างสะพานไม้บนถนนสวรรค์วิถี ทางศูนย์ราชการ เพื่อใช้เป็นทางเดินสำหรับประชาชนและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ในขณะนี้การก่อสร้างที่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.นครสวรรค์ ร่วมกับ สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้ดำเนินการจัดสร้างเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสะพานดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้นำเหล็กที่ใช้ประกอบเป็นนั่งร้าน ทำเป็นฐานยกพ้นน้ำประมาณ 50 ซ.ม. โดยมีระยะทาง 1,500 เมตร ตั้งแต่แยกบิ๊กซีนครสวรรค์ จนถึงด้านหน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งหลังจากสะพานดังกล่าวสามารถใช้การได้ ก็ทำให้ประชาชนที่อยู่ในละแวกศูนย์ราชการจากที่เคยใช้เรือในการสัญจรเข้าออก หันมาใช้สะพานในการสัญจรแทน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด รายงานเมื่อ 17.19 น 15/10/54
17.19 น. สถานการณ์น้ำท่วม ประตูน้ำพระอินทร์น้ำล้นท่วมบริเวณริมคลอง 1 ไปจนถึงห้างเซียร์รังสิต สายด่วนกรมชลประทานแจ้งว่าขณะนี้ ได้ปล่อยน้ำลงคลอง 1 รังสิตแล้ว เนื่องจากชาวบ้านไม่ยอมให้กั้นน้ำตรง ประตูน้ำพระอินทร์ทำให้น้ำเริ่มเอ่อท่วมบริเวณริมคลอง 1 ไปจนถึงห้างเซียร์รังสิตโดยเฉพาะพื่นที่ลุ่มหรือบริเวณที่คันดินริมคลองรังสิตกั้นไม่อยู่ ทำให้รถมุ่งหน้ารังสิต-นครนายกติดตั้งแต่หน้าห้างยาวเยียดไปถึงคลอง 5 และคาดว่า จะค่อยๆ ท่วมเข้าหมู่บ้าน
ส่วนประตูน้ำจุฬาลงกรณ์บริเวณตลาดรังสิต ขณะนี้ยังรับน้ำไหวเพราะน้ำจากเหนือลดระดับลงแล้ว แต่หากประตูนี้ไม่สามารถกั้นน้ำได้น้ำจะเข้าท่วมเส้นรังสิตนครนายกและดอนเมืองทันที
บ้านสร้าง-ปราจีนฯ น้ำท่วมมิด 15/10/54
ผลพวงระบายน้ำหนี กทม. ชาวบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ทุกข์หนัก น้ำท่วมบ้านมิด ต้องอพยพขึ้นมานอนข้างถนน วอนทางการช่วยด่วน...
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ถูกน้ำจากอำเภอด้านบนใน จ.ปราจีนบุรี น้ำจากเขื่อนสียัด ในเขต อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน น้ำจากพื้นที่ จ.นครนายก และชลประทานมีการผันน้ำจากภาคเหนือออกไปตามลำคลองต่างๆ ในเขตภาคตะวันออก เพื่อไม่ให้กรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วม ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวได้ไหลเข้ามาในพื้นที่ อ.บ้านสร้าง จนทำให้ทุกพื้นที่ถูกน้ำท่วมมิด บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม ต้องหนุนบ้านไปแล้วกว่า 3 ครั้ง ถนนสายหลัก ปราจีนบุรี-บางน้ำเปรี้ยว-มีนบุรี ถูกน้ำท่วมเป็นช่วงๆ ตลอดเส้นทาง ส่วนถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมตัดขาดทั้งหมด ประชาชนในชนบทที่อยู่ห่างไกลต้องใช้เรือเครื่องและเรือพาย เป็นพาหนะในการเดินทางเข้าออกระหว่างหมู่บ้าน ส่วนรถยนต์ของชาวบ้านต้องนำไปจอดรวมที่ข้างถนน และช่วยกันทำแนวกำแพงดินกันน้ำท่วม ชาวบ้านบางรายถูกน้ำท่วมบ้านจนมิดหลัง ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ต้องอาศัยข้างถนนทำเพิงพักชั่วคราว หรือศาลาพักผู้โดยสารเป็นที่พักแรม
ด้านนายบุญเตือน อินคง นายก อบต.บางแตน กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านในเขต อ.บ้านสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่ ต.บ้านสร้าง ต.บางกระเบา ต.บางเตย ต.บางยาง และ ต.บางแตน ถูกน้ำท่วมบ้าน และพื้นที่การเกษตรยังไม่รู้ว่า หลังจากรัฐบาลผันมวลน้ำทางเหนือเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านจะต้องอพยพไปอยู่ที่ไหนและต้องทำอย่างไร ซึ่งทางราชการที่เกี่ยวข้องไม่เคยชี้แจงให้ทราบ ชาวบ้านวอนทางการให้ความช่วยเหลือเครื่องอุปโภค บริโภค เรือท้องแบน เสื้อชูชีพ รวมทั้งห้องสุขา หากปริมาณน้ำสูงขึ้นตลอดเวลา ทางราชการจะมีมาตรการผันน้ำให้ลงทะเลหรือไม่ และเมื่อใดจะดำเนินการ เพราะในเขต อ.บ้านสร้าง จะถูกน้ำท่วมนานไม่น้อยกว่า 3 เดือน
สถานการณ์น้ำท่วมปราจีนบุรีเมื่อปี 2553
"ระดับน้ำในพื้นที่นาสูงประมาณ 2.50-3.00 เมตร ส่วนความช่วยเหลือที่ชาวบ้านต้องการคือ ส้วมลอยน้ำ เรือท้องแบน ข้าวสารอาหารแห้ง เสื้อชูชีพ ซึ่งมีความจำเป็นมาก เนื่องจากขณะนี้ทุกหลังคาเรือนถูกน้ำท่วมหมดถึง 99% แล้ว" นายบุญเตือน กล่าว.
เขื่อนภูมิพลปิดประตูระบายน้ำฉุกเฉินแล้ว
นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) เขื่อนภูมิพล ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมระหว่างคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และทางกฟผ. ว่าที่ประชุมมีมติให้ทำการปิดประตูระบายน้ำฉุกเฉินทุกบานทั้งหมดในช่วงเย็นวันนี้ (13 ต.ค.)เป็นต้นไป เหลือการระบายน้ำผ่านทางเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียงวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เท่านั้น
เนื่องจากพบว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนมีจำนวนลดลง อีกทั้งเป็นการลดปริมาณน้ำที่ไหลไปสู่ลุ่มเจ้าพระยา และในพื้นที่ภาคกลาง ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ด้วย จึงจะขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำปิงบริเวณจังหวัดตาก และกำแพงเพชรได้คลายความวิตกกังวลลง และคาดว่า สถานการณ์น้ำท่วมคงจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติใน เร็วๆนี้
สถานการณ์น้ำท่วม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ระดับน้ำบนถนนปทุมธานี-สามโคก ยังคงมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อช่วงเช้าที่น้ำในจุดนี้สูงเพียงแค่ประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ตอนนี้ระดับน้ำสูงขึ้นอีกแล้ว ขณะเดียวกันยังคงมีความพยายามจากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสามโคกที่จะซ่อมแซมประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าวให้ได้
ถือเป็นวันที่ 2 แล้วที่ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศที่ออกแรงคนละไม้คนละมือในการเร่งซ่อมแซมประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าว ต.บ้านปทุม อ.สามโคก เพื่อซ่อมแซมคอนกรีตที่พังลงเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร ส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมตำบลต่างๆ ในอำเภอสามโคก ซึ่งขณะนี้สามารถซ่อมแซมไปได้ประมาณ 20 เมตร หรือร้อยละ 30 เท่านั้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการดำเนินการ
โดยล่าสุด บ.อิตาเลียนไทย ที่เข้ามาช่วยซ่อมแซมในวันนี้ ก็ได้ถอนตัวไปแล้ว เพราะกระแสน้ำแรงไม่สามารถทำได้ แต่ทางนายก อบจ.ปทุมธานี นายก อบต.เชียงรากใหญ่ นายก อบต.บ้านงิ้ว และการประปานครหลวง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ ยังคงผนึกกำลังในการซ่อมแซม แม้ว่าอาจจะไม่แล้วเสร็จในค่ำคืนนี้ ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับประตูน้ำวัดป่าฝ้าย และคลองพระตำหนักก็อาจจะมีความหวังว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังจะดีขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่เตรียมที่จะเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมคอนกรีตที่พังทลายลงไปแล้วก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม วันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้เรียกประชุมส่วนราชการ และทหารจากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอาอากาศ เพื่อทบทวนแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยยังคงยืนยันว่า ปทุมธานียังสามารถรับมือได้ ดังนั้นทางโซน นวนคร เมืองเอก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต สามารถเบาใจได้ และไม่ต้องย้ายศูนย์อพยพ
สถานการณ์น้ำท่วมสามโคก
และภายหลังการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายกรัฐมนตรี ก็แจ้งมาว่า ทีมงานที่ซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรีเสร็จแล้ว จะเดินทางมาช่วยซ่อมแซมคอนกรีตที่พังหลายจุดในปทุมธานีด้วย
ส่วนชาวบ้านที่ยังอยู่ตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ บนถนนปทุมธานี-สามโคก ที่ยังไม่ได้อพยพไปไหน ต่างก็กังวลเป็นห่วงบ้าน เนื่องจากมีรายงานว่า เริ่มมีหัวขโมยเข้ามาในพื้นที่บ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงวิกฤต
ชาวปทุมฯ ย้ายรถจอดโทลล์เวย์หนีน้ำทะลัก
ชาวปทุมธานีแตกตื่นเก็บของขึ้นที่สูงอลหม่าน หลัง ศปภ.ประกาศน้ำจะทะลักเข้าท่วมปทุมฯ ส่วนใหญ่นำรถยนต์ไปจอดตามสะพานข้ามคลอง และบนทางด่วนโทลล์เวย์นับพันคัน...
เมื่อเวลา 22.30 น. วันที่ 13 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุถกภัย (ศปภ.) รายงานสถานการณ์ให้ประชาชนในเขตจังหวัดปทุมธานี ทำการขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง ในเขตพื้นที่ อ.คลองหลวง อ.ธัญบุรี และ อ.เมือง โดยเฉพาะในเขตรังสิต หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ให้ขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง ส่วนประชาชนที่มีบ้านชั้นเดี่ยวให้เตรียมการอพยพ อย่างเร่งด่วนเนื่องมาจากทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถป้องกันประตูระบายน้ำบ้านพร้าวนอกที่พังมาแล้ว 2 วันได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ประกาศ ต่างขนย้ายเข้าของหนีกันอย่าอลหม่าน ร่วมไปถึงประชาชนส่วนใหญ่ได้นำรถของตนเองมาจอดตามสะพานข้ามคลอง และที่เป็นจุดใหญ่คือ บนทางด่วนโทลล์เวย์ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี กันเป็นจำนวนมากนับพันคัน โดยส่วนใหญ่เกรงว่าจะเกินน้ำท่วมฉับพลัน
น.ส.สหพร เชิดวิริยะกุล อายุ 22 ปี กล่าวว่า หลังจากที่ ศปภ.ประกาศ ก็ได้เก็บของจากชั้นล่างขึ้นมาไว้ชั้นบน โดยที่บ้านมีแม่และพ่อ พร้อมด้วย สุนัขอีก 8 ตัว จำเป็นต้องขนเฉพาะของที่จำเป็นขึ้นไปก่อน ส่วนที่เหลือปล่อนทิ้งไว้ เพราะทาง ศปภ.ไม่ได้ประกาศว่าน้ำจะมาเมื่อไร และเวลาไหน ซึ่งตนคิดว่าหากจะประกาศแบบนี้ ต้องมีการเตรียมความพร้อมและรู้ว่าน้ำจะมาเมื่อไร เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนแตกตื่น เพราะส่วนใหญ่เมื่อได้ยินประกาศดังนั้นแล้ว ต่างคนก็คิดว่าน้ำจะมาแบบที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เพียงไม่กี่นาทีน้ำก็เข้าท่วมจนหมด อย่างไรก็ตาม การประกาศเตือนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะประชาชนจะได้เตรียมรับมือได้ทัน แต่ขอให้กำหนดทิศทางของน้ำว่าจะเป็นไปทางไหน ไม่ใช่พูดรวมๆ ทำให้ประชาชนเกิดความตกใจ
นายกฯ ยัน กทม. ปลอดภัย
เมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (13 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการไปตรวจสันเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ว่า ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นสำหรับการระบายน้ำในฝั่งตะวันตกคือ การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน หลังจากนี้กองทัพบกและกระทรวงคมนาคมจะกลับไปแบ่งงานกัน ในการขุดลอกคลองต่างๆ โดยเฉพาะคลองหลักจะขุดให้ลึกขึ้น โดยจะเริ่มขุดตั้งแต่จังหวัดชัยนาทถึงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อถ่ายน้ำลงไปสู่โครงการพระราชดำริมหาชัย สนามชัย ซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงที่เชื่อมกับทะเล
ทั้งนี้ ในส่วนของแม่น้ำท่าจีนซึ่งคดเคี้ยว คล้ายๆ กับคลองลัดโพธิ์ จะให้กองทัพบกไปช่วยหาเส้นทางลัดขุดคลองเพื่อให้น้ำลัดเร็วขึ้น และจะไปติดตั้งเครื่องผันน้ำ และในเรื่องของเรือด้วย ซึ่งจะทำเหมือนกับการผลักดันน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคลองลัดโพธิ์สามารถผันน้ำได้ทั้งหมดวันละ 50 ล้านลูกบาศ์กเมตร โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 วัน โดยจะต้องเร่งทุกส่วน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า เบื้องต้นขอให้สบายใจ ส่วนในกรุงเทพฯเรายังทำแนวป้องกันอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วนก็คือการทำแนวกั้นน้ำในฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในส่วนของปทุมธานี และนนทบุรีให้เร่งแล้วเสร็จโดยเร็ว
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังยืนยันอีกว่า กรุงเทพฯ ปลอดภัยก็ใช้คำนี้ได้ จริงๆ ต้องใช้คำนี้ได้ โดยเฉพาะแนวที่อยู่ภายในของแนวคันกั้นน้ำ ส่วนทางด้านอกอาจจะเจอน้ำบ้าง และไม่ใช่เป็นน้ำที่ระดับปริมาณสูง ดังนั้นในส่วนของภาพรวม เราจะได้ประสานทุกหน่วยงานในการเร่งขุดคลอง เพื่อให้การระบายน้ำเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น
น้ำทะลักท่วมเขตเทศบาลขอนแก่นบางจุดแล้ว
น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ล่าสุด ยังคงมีปริมาณที่เกินกว่าความจุอ่าง คิดเป็น 120 % ไหลเข้าท่วมเขตเทศบาลนครขอนแก่นบางจุดแล้ว
น้ำทะลักท่วมเทศบาลนครขอนแก่น
สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ล่าสุด ยังคงมีปริมาณที่เกินกว่าความจุอ่าง กว่า 3,000 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 120 % ของความจุอ่าง ทำให้วันนี้ เขื่อนต้องเปิดประตูระบายน้ำ ทั้ง 4 บาน ระบายน้ำออกถึง 53 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ส่งผลให้บริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ยังคงมีระดับน้ำที่ท่วมสูงขึ้น ถนนหลายเส้นทางต้องถูกสั่งปิด ขณะที่ เขต อ.เมือง ขอนแก่น ล่าสุด น้ำได้ไหลเข้าท่วมเขตเทศบาลนครขอนแก่นบางจุดแล้ว
นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้ประกาศให้ ทุกอำเภอของจังหวัด เป็นพื้นที่ประสบภัย มีประชาชนที่ประสบภัย รวม 907,994 คน พื้นที่ทางการเกษตร เสียหายกว่า 339,461 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหว่า 440 ล้านบาท ขณะที่การให้ความช่วยเหลือยังคงดำเนินการไปอย่างเต็มที่
ขอนแก่นประกาศพื้นที่ประสบภัย 26 อำเภอ
ขอนแก่นประกาศพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมครบแล้ว 26 อำเภอ อพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมหนักแล้วกว่า 1,000 ครัวเรือน หลายพื้นที่ต้องสั่งปิดถนนเพื่อความปลอดภัย ขณะนี้น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์เกินความจุไม่ต่ำกว่า 20% เร่งระบายน้ำเพิ่มวันละ 53 ล้าน ลบ.ม.ป้องกันเขื่อนแตก พร้อมเปิดศูนย์รับบริจาคสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ศาลากลาง
นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า ณ วานนี้ (13 ต.ค.) ทางฝั่งทางเลี่ยงเมืองขอนแก่นด้านทิศตะวันออกเข้ามาถึงเทศบาลนครขอนแก่นตอนนี้น้ำท่วมเกือบหมดแล้วทางจังหวัดขอนแก่นก็มีการอพยพประชาชนแล้วกว่าพันครัวเรือน ส่วนทางด้านอำเภอน้ำพองก็ทำการปิดถนนเส้นบ้านโคกท่า ต.หนองตูม อ.ขอนแก่น ไปที่บ้านท่าเดื่อ ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร น้ำท่วมสูงต้องปิดการจราจรไว้ก่อนเนื่องจากอาจเกิดความเสียหายกับรถที่สัญจรไปมาได้ส่วน
นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า ณ วานนี้ (13 ต.ค.) ทางฝั่งทางเลี่ยงเมืองขอนแก่นด้านทิศตะวันออกเข้ามาถึงเทศบาลนครขอนแก่นตอนนี้น้ำท่วมเกือบหมดแล้วทางจังหวัดขอนแก่นก็มีการอพยพประชาชนแล้วกว่าพันครัวเรือน ส่วนทางด้านอำเภอน้ำพองก็ทำการปิดถนนเส้นบ้านโคกท่า ต.หนองตูม อ.ขอนแก่น ไปที่บ้านท่าเดื่อ ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร น้ำท่วมสูงต้องปิดการจราจรไว้ก่อนเนื่องจากอาจเกิดความเสียหายกับรถที่สัญจรไปมาได้ส่วน
ข่าวน้ำท่วมมหาสารคาม
มหาสารคามระดมกำลังชาวบ้าน ทหารบรรจุกระสอบทรายตลอด 24 ชั่วโมงทำแนวป้องกันน้ำชีที่จะไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวหลายหมื่นไร่
ทหารบรรจุกระสอบทรายตลอด 24 ชั่วโมงทำแนวป้องกันน้ำชีที่จะไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าวหลายหมื่นไร่
จังหวัดมหาสารคาม ระดมกำลังชาวบ้านและทหารจากกองพลทหารราบที่ 6 ช่วยกันบรรจุกระสอบทรายนำไปทำแนวป้องกันน้ำชีที่จะไหลทะลักข้ามถนนลงไปท่วมไร่นาชาวบ้านหลายหมื่นไร่ พร้อมใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 23 เครื่องสูบน้ำลงแม่น้ำชี
นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลัง นำนายวีระพล สุพรรณไชยมาตย์ ปลัดจังหวัดมหาสารคาม , เจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัดมหาสารคาม , นายอำเภอเมืองมหาสารคามและหัวหน้าส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี บริเวณบ้านท่าตูม ตำบลท่าตูม อำเภอเมืองมหาสารคาม เพื่อดูการใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำ ออกจากพื้นที่นาข้าวของราษฎร และเยี่ยมเป็นกำลังใจให้แก่ชาวบ้านท่าตูม ตำบลท่าตูมและตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมืองมหาสารคาม และกำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มาช่วยกับชาวบ้าน บรรจุกระสอบทรายนำไปวางเป็นแนวป้องกันน้ำในแม่น้ำชีที่เอ่อล้นฝั่งขึ้นมาท่วมไร่นาของราษฎรส่วนหนึ่ง และกำลังจะไหลเอ่อล้นถนนข้ามมาท่วมนาข้าวของราษฎรอีกฝั่งถนนจำนวนหลายหมื่นไร่ที่กำลังจะออกรวงว่า
ขณะนี้ปริมาณน้ำในลำน้ำชีที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดมหาสารคามเป็นระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร ได้เอ่อล้นฝั่งขึ้นมาท่วมไร่นา บ้านเรือน ของราษฎร ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีแล้วส่วนหนึ่ง โดยจังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่เพาะปลูก 5 แสนไร่เศษ ขณะนี้ถูกน้ำท่วมไปแล้ว 2 แสนกว่าไร่ และคาดว่าจะเสียหายประมาณ 1 แสน 8 หมื่นไร่ ในการแก้ไขเฉพาะหน้าขณะนี้จังหวัดได้พยายามป้องกันพื้นที่นาข้าวที่กำลังตั้งท้องและจะให้ผลผลิตที่อยู่ริมแม่น้ำชีอีกหลายหมื่นไร่ โดยการระดมกำลังชาวบ้านและทหารที่มาช่วยจากกองพลทหารราบที่ 6 ช่วยกันทำผนังคันดินและนำกระสอบทรายมาวางเสริมเป็นแนวยาวป้องกันไม่ให้น้ำชีไหลเอ่อข้ามถนนไปท่วมนาข้าวอีกฝั่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ก็ระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 23 เครื่องทำการสูบน้ำออกจากพื้นที่นา เพื่อป้องกันน้ำท่วมนาข้าวที่เหลืออยู่ทุกวิถีทาง ส่วนราษฎรที่มีการอพยพออกจากบ้านมาอยู่ในที่สูงจังหวัดก็ออกเยี่ยมเยียน นำข้าวสาร อาหารแห้ง ไปมอบให้อย่างต่อเนื่อง ส่งเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลออกไปดูแลรักษา ผู้เจ็บป่วย จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจออกลาดตระเวน ดูแลทรัพย์สินของราษฎรที่ถูกน้ำท่วมและขนขึ้นมากองไว้ในที่สูงด้วย
เป็นกำลังให้ทุกคนอย่าเพิ่งท้อนะคะ
ตอบลบยังไงคนไทยก็ไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว+_+